การวิจัยเชิงคุณภาพกับการศึกษาวิทยาศาสตร์

ในช่วงหลังมานี้ ผมไม่ค่อยได้เขียนเกี่ยวกับงานวิจัยเชิงคุณภาพเท่าไหร่ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ผมบังเอิญเจอบทความวิจัยเรื่อง “The Role of Qualitative Research in Science Education” ซึ่งนำเสนอแนวโน้มของการวิจัยในวงการวิทยาศาสตร์ศึกษาได้ดีทีเดียวครับ บทความนี้เป็นการศึกษาเพื่อตอบคำถามวิจัย 3 ข้อ ดังนี้ครับ

  1. งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ศึกษาส่วนใหญ่เป็นการวิจัยประเภทใด (งานวิจัยเชิงปริมาณ งานวิจัยเชิงคุณภาพ หรืองานวิจัยแบบผสมผสาน)
  2. งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา “ที่ไม่ใ่ช่งานวิจัยเชิงปริมาณ” ใช้วิธีการเก็บข้อมูลใดบ้าง (การสัมภาษณ์ การสังเกต และการศึกษาเอกสาร)
  3. งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา “ที่ไม่ใช่งานวิจัยเชิงปริมาณ” มีการใช้เทคนิคสามเส้ม (Triangulation) มากน้อยเพียงใด

ผมเดาเอาเองนะครับว่า ผู้วิจัยคงสังเกตเห็นแนวโน้มที่ว่า งานวิจัยเชิงคุณภาพค่อยๆ มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์ศึกษา  แต่ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบจริงๆ เกี่ยวกับแนวโน้มนี้ ซึ่งอาจเป็นเพียงแค่ “อุปทาน” ของผู้วิจัยเองก็ได้ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง (ผมเองก็สังเกตเห็นแนวโน้มนี้ ดังที่ผมเคยเรียนให้อาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการ Inquiring Mind “ครูไทย หัวใจสืบเสาะ” อยู่บ่อยครั้งว่า งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ศึกษาในต่างประเทศเป็นเชิงคุณภาพซะส่วนใหญ่ แต่ผมก็ไม่ได้ศึกษาแนวโน้มนี้อย่างจริงจัง จนกระทั่งผมเห็นบทความวิจัยเรื่องนี้ ซึ่งก็เข้าทางผมพอดีครับ)

ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยใช้การศึกษางานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ศึกษาที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง ซึ่งประกอบด้วย

ในการนี้ ผู้วิจัยพิจารณางานวิจัยทั้งหมดที่เผยแพร่ในช่วงเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.  2006 – 2008 ซึ่งมีทั้งสิ้น 461 เรื่อง (JRST 146 เรื่อง; SE 127 เรื่อง; และ IJSE 188 เรื่อง) รวมจำนวนหน้าทั้งหมด 12524 หน้า

ผู้วิจัย (2 คน) วิเคราะห์งานวิจัยทั้งหมดเหล่านี้ โดยการอ่านอย่างละเอียดเพื่อบ่งชี้ว่า งานวิจัยแต่ละเรื่องเป็นการวิจัยประเภทใด  ในการนี้ ผู้วิจัยแต่ละคนจัดกลุ่มงานวิจัยแต่ละเรื่องออกเป็น 3 กลุ่ม คือ งานวิจัยเชิงปริมาณ งานวิจัยเชิงคุณภาพ หรือ งานวิจัยแบบผสมผสาน แต่ละคนจัดกลุ่มแยกกัน แล้วจึงนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกันเพื่อหาค่า “Inter rater reliability” (อาจารย์ในโครงการ Inquiring Mind “ครูไทย หัวใจสืบเสาะ”คงยังจำกันได้นะครับ) ซึ่งได้เท่ากับ 96%

ผลการจัดกลุ่มเป็นดังนี้ครับ

งานวิจัยใน JRST ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ทั้งหมดจำนวน 146 เรื่อง แบ่งออกเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ 43 เรื่อง (29.5%) งานวิจัยเชิงคุณภาพ 65 เรื่อง (44.5%) และงานวิจัยแบบผสมผสาน 36 เรื่อง (24.6%) ส่วนอีก 2 เรื่อง (1.4%) เป็นบทความทางทฤษฎี

งานวิจัยใน SE ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ทั้งหมดจำนวน 127 เรื่อง แบ่งออกเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ 17 เรื่อง (13.4%) งานวิจัยเชิงคุณภาพ 68 เรื่อง (53.5%) และงานวิจัยแบบผสมผสาน 26 เรื่อง (20.5%) ส่วนอีก 16 เรื่อง (12.6%) เป็นบทความทางทฤษฎี

งานวิจัยใน IJSE ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ทั้งหมดจำนวน 188 เรื่อง แบ่งออกเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ 62 เรื่อง (33.0%) งานวิจัยเชิงคุณภาพ 75 เรื่อง (39.9%) และงานวิจัยแบบผสมผสาน 37 เรื่อง (19.7%) ส่วนอีก 14 เรื่อง (7.4%) เป็นบทความทางทฤษฎี

ผลการพิจาณารวมกันทั้ง 3 วารสารเป็นดังนี้ งานวิจัยทั้งหมดจำนวน 461 เรื่องแบ่งออกเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ 122 เรื่อง (26.5%) งานวิจัยเชิงคุณภาพ 208 เรื่อง (45.1%) และงานวิจัยแบบผสมผสาน 99 เรื่อง (21.5%) ส่วนอีก 32 เรื่อง (6.9%) เป็นบทความทางทฤษฎี

ผลการจัดกลุ่ม (หรือผลการวิเคราะห์) ข้างต้น แสดงว่า งานวิจัยเชิงคุณภาพเป็นงานวิจัยที่มีอัตราส่วนมากที่สุด (45.1%) ในการนี้ ผู้วิจัยยังได้วิเคราะห์งานวิจัยที่ใช้วิธีการวิัจัยเชิงคุณภาพ (นั่นคือ งานวิจัยเชิงคณภาพและงานวิจัยแบบผสมผสาน) อย่างละเอียดมากขึ้นว่า งานวิจัยเหล่านี้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลใดบ้าง ในการนี้ ผู้วิจัยจัดกลุ่มวิธีการเก็บข้อมูลออกเป็น 3 กลุ่ม คือ การสัมภาษณ์ การสังเกต และการวิเคราะห์เอกสาร

ผลการวิจัยในแง่ของวิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นดังนี้ครับ

งานวิจัยใน JRST ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งหมดมีจำนวน 65 + 36 = 101 เรื่อง ใช้วิธีการสัมภาษณ์ 70 เรื่อง ใช้วิธีการสังเกต 53 เรื่อง และใช้วิธีการเก็บเอกสาร 31 เรื่อง (เนื่องจากงานวิจัยบางเรื่องใช้วิธีการเก็บข้อมูลมากกว่า 1 วิธี ดังนั้น ผลรวมจึงมากกว่า 101 ครับ)

งานวิจัยใน SE ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งหมดมีจำนวน 68 + 26 = 94 เรื่อง ใช้วิธีการสัมภาษณ์ 71 เรื่อง ใช้วิธีการสังเกต 57 เรื่อง และใช้วิธีการเก็บเอกสาร 34 เรื่อง (เนื่องจากงานวิจัยบางเรื่องใช้วิธีการเก็บข้อมูลมากกว่า 1 วิธี ดังนั้น ผลรวมจึงมากกว่า 94 ครับ)

งานวิจัยใน IJSE ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งหมดมีจำนวน 75 + 37 = 112 เรื่อง ใช้วิธีการสัมภาษณ์ 73 เรื่อง ใช้วิธีการสังเกต 45 เรื่อง และใช้วิธีการเก็บเอกสาร 37 เรื่อง (เนื่องจากงานวิจัยบางเรื่องใช้วิธีการเก็บข้อมูลมากกว่า 1 วิธี ดังนั้น ผลรวมจึงมากกว่า 112 ครับ)

ผลการพิจาณารวมกันทั้ง 3 วารสารเป็นดังนี้ งานวิจัยที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเิชิงคุณภาพทั้งหมดมีจำนวน 101 + 94 + 112 = 307 เรื่อง ใช้วิธีการสัมภาษณ์ 70 + 71 + 73 =  214 เรื่อง ใช้วิธีการสังเกต 53 + 57 + 45 = 155 เรื่อง และใช้วิธีการเก็บเอกสาร 31 + 34 + 37 =  102 เรื่อง (เนื่องจากงานวิจัยบางเรื่องใช้วิธีการเก็บข้อมูลมากกว่า 1 วิธี ดังนั้น ผลรวมจึงมากกว่า 307 ครับ) นั่นคือ การสัมภาษณ์เป็นวิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพที่ถูกใช้มากที่สุด รองลงมาคือการสังเกตและการเก็บเอกสาร ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผู้วิจัยวิเคราะห์ต่อไปว่า งานวิจัยในแต่ละวารสารที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ (ซึ่งรวมทั้งงานวิจัยเชิงคุณภาพและงานวิจัยแบบผสมผสาน) มีงานวิจัยที่ใช้เทคนิคสามเส้าเป็นจำนวนเท่าใด

ผลการวิเคราะห์เป็นดังนี้ครับ

งานวิจัยใน JRST ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งหมดมีจำนวน 101 เรื่อง ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเพียง 1 วิธี 63 เรื่อง (62.4%) ใช้วิธีการเก็บข้อมูล 2 วิธี 23 เรื่อง (22.8%) และใช้วิธีการเก็บข้อมูล 3 วิธี 15 เรื่อง (14.8%)

งานวิจัยใน SE ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งหมดมีจำนวน 94 เรื่อง ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเพียง 1 วิธี 49 เรื่อง (52.1%) ใช้วิธีการเก็บข้อมูล 2 วิธี 30 เรื่อง (31.9%) และใช้วิธีการเก็บข้อมูล 3 วิธี 15 เรื่อง (16.0%)

งานวิจัยใน IJSE ในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2008 ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งหมดมีจำนวน 112 เรื่อง ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเพียง 1 วิธี 74 เรื่อง ใช้วิธีการเก็บข้อมูล 2 วิธี 31 เรื่อง และใช้วิธีการเก็บข้อมูล 3 วิธี 6 เรื่อง [ข้อมูลจากบทความวิจัยในส่วนนี้ดูเหมือนจะคลาดเคลื่อนเล็กน้อยนะครับ เพราะ 74 + 31 +6 = 111 แทนที่จะเป็น 112 ครับ]

นั่นคือ จำนวนงานวิจัยที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพยังมีน้อยที่ใช้เทคนิคสามเส้าครับ

ผมขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า สาเหตุที่งานวิจัยเชิงคุณภาพได้รับความนิยมมากขึ้นก็คือว่า งานวิจัยประเภทนี้ช่วยให้ผู้วิจัยเข้าใจความซับซ้อนเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ (และการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์) ได้ดีขึ้น ตรงนี้เป็นจุดเด่นที่งานวิจัยเชิงคุณภาพได้ตอบสนองข้อจำกัดของงานวิจัยเชิงปริมาณที่แพร่หลายมาก่อนหน้านี้ แม้ว่างานวิจัยเชิงคุณภาพอาจถูกวิจารณ์จากกลุ่มคนที่ยึดมั่นในระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณว่า มันอาจขาดความน่าเชื่อถือและมีการนำไปใช้ได้ในบริบทที่จำกัด แต่สำหรับกลุ่มคนที่เล็งเห็นข้อดีของงานวิจัยเชิงคุณภาพ พวกเขาคิดว่า แม้ข้อวิจารณ์เหล่านี้มีเหตุผล แต่มันก็ไม่ใช่และไม่ควรเป็นอุปสรรคของการเรียนรู้เชิงลึกเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ (และการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์) ครับ

ถึงตรงนี้ ผมคงพูดได้เต็มปากอีกครั้งแล้วว่า งานวิจัยเชิงคุณภาพกำลังมีบทบาทอย่างมากในวงการวิทยาศาสตร์ศึกษาในต่างประเทศ ในขณะเดียวกันนี้ ผมอาจต้องตั้งคำถามให้ดังขึ้นว่า มันถึงเวลาแล้วยังที่งานวิจัยเชิงคุณภาพจะมีบทบาทมากขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์ศึกษาของประเทศไทย