กระบวนทัศน์การวิจัย

ผมขอเขียนเกี่ยวกับเรื่องยากๆ แต่เป็นพื้นฐานสำคัญ ของการทำวิจัยหน่อยนะครับ เรื่องที่ว่านี้ก็คือ “กระบวนทัศน์การวิจัย” หรือ “Research paradigm” นั่นเอง

เราสามารถนิยามของคำว่า “กระบวนทัศน์การวิจัย” แบบธรรมดาๆ ได้ว่า กระบวนทัศน์การวิจัยเป็นชุดความเชื่อที่ผู้วิจัยใช้ในการทำวิจัย ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบการวิจัย ซึ่งถูกสะท้อนออกมาผ่านความคิด การกระทำ และคำพูดของผู้วิจัย ความเชื่อนี้อาจเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ โดยที่ผู้วิจัยเองก็อาจไม่รู้ตัว

โดยทั่วไปแล้ว นักปรัชญาแบ่งกระบวนทัศน์การวิจัยออกเป็น 3 ระดับครับ ระดับแรกเป็นเรื่องของภววิทยา (Ontology) ซึ่งว่าด้วยสถานะของความจริง ระดับที่สองเป็นเรื่องของญาณวิทยา (Epistemology) ซึ่งว่าด้วยการได้มาซึ่งความรู้เกี่ยวกับความจริงนั้น ระดับที่สามเป็นเรื่องของวิธีวิทยา (Methodology) ซึ่งว่าด้วยวิธีการในการได้มาซึ่งความรู้เกี่ยวกับความจริงนั้น

มาผมมีหนังสือเล่มนึงมาแนะนำครับ ซึ่งเป็นหนังสือที่ช่วยให้ผมปรับ “กระบวนทัศน์การวิจัย” ของตัวเองให้เหมาะสมกับงานวิจัยเชิงคุณภาพได้ง่ายขึ้น หนังสือเล่นนี้มีชื่อว่า “Naturalistic Inquiry” ซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 1985 (เกือบ 30 ปีมาแล้วครับ)

หนังสือเล่มนี้ค่อยๆ ปูพื้นเกี่ยวกับความเชื่อในการวิจัยไปทีละน้อยๆ โดยในหน้าที่ 37 ผู้เขียนได้นำเปรียบเทียบความแตกต่างทางกระบวนทัศน์การวิจัย 2 แบบ (วิจัยเชิงปริมาณ และ วิจัยเชิงคุณภาพ) ได้อย่างน่าสนใจและเข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ

จากตารางข้างต้น ผู้เขียนเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างกระบวนทัศน์การวิจัย 2 แบบ โดยแบบแรกเป็นแบบปฏิฐานนิยม (Positivist paradigm) ซึ่งมักเป็นพื้นฐานของการวิจัยเชิงปริมาณ ส่วนแบบที่สองเป็นแบบธรรมชาตินิยม (Naturalistic paradigm) ซึ่งมักเป็นพื้นฐานของการวิจัยเชิงคุณภาพ [ผู้เขียนบางคนอาจใช้คำอื่นๆ นะครับ ในวงการศึกษา นักวิชาการมักประดิษฐ์คำขึ้นมาเป็นของตัวเอง ทั้งๆ ที่มันก็มีความหมายไม่แตกต่างจากคำอื่นๆ มากนัก อันนี้เป็นอัตตาของแต่ละคนครับ]

ความแตกต่างมีทั้งหมด 5 มิตินะครับ คือ 1. ธรรมชาติของความจริง 2. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้วิจัยกับสิ่งที่ถูกวิจัย 3. ความเป็นไปได้ในการสรุปอิง 4. ความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์เชิงเหตุผล 5. บทบาทของคุณค่าหรือค่านิยม เรามาว่ากับทีละมิตินะครับ

มิติแรก (ธรรมชาติของความจริง) ผู้วิจัยแบบปฏิฐานนิยม(เชิงปริมาณ)มองว่า ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว เป็นสิ่งที่คนเราสามารถเข้าถึงได้ และสามารถแยกส่วนได้ ในขณะที่ ผู้วิจัยแบบธรรมชาตินิยม(เชิงคุณภาพ)มองว่า ความจริงมีได้หลายอย่าง เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยคน และมีความเป็นองค์รวม(ไม่สามารถแยกส่วนได้)

ด้วยความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของความจริงที่แตกต่างกัน ผู้วิจัยจึงมีความเชื่อที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้วิจัยกับสิ่งที่ถูกวิจัย กล่าวคือ ผู้วิจัยแบบปฏิฐานนิยมเชื่อว่า ผู้วิจัยและสิ่งที่ถูกวิจัยเป็นอิสระต่อกัน และเป็นคู่ขนาน ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นผู้วิจัยก็ตาม ผลที่ได้จากการวิจัยสิ่งเดียวกันก็ต้องเหมือนกัน หากความแตกต่างเกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะความผิดพลาดของกระบวนการวิจัย แต่ผู้วิจัยแบบธรรมชาตินิยมกลับเชื่อว่า ผู้วิจัยและสิ่งที่ถูกวิจัยแยกออกจากกันไม่ได้ และเป็นสิ่งที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ดังนั้น ผลที่ได้จากการวิจัยสิ่งเดียวกันโดยผู้วิจัยแต่ละคนก็อาจแตกต่างกันได้

ด้วยความเชื่อว่าความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ผู้วิจัยแบบปฏิฐานนิยมจึงเชื่อว่า ผลที่ได้จากการวิจัยจะไม่ขึ้นกับเวลาและบริบท กล่าวคือ ไม่ว่าการวิจัยนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และที่ไหน ผลการวิจัยสิ่งเดียวกันต้องออกมาเหมือนกัน แต่ด้วยความเชื่อว่าความจริงมีได้หลากหลาย ผู้วิจัยแบบธรรมชาตินิยมจึงเชื่อว่า ผลที่ได้จากการวิจัยขึ้นอยู่กับเวลาและบริบท การวิจัยสิ่งเดิม แต่ต่างที่ต่างเวลา อาจทำให้ผลการวิจัยที่ได้แตกต่างไปจากเดิม

ผู้วิจัยเชิงปฏิฐานนิยมเชื่อว่า ตนเองสามารถศึกษาสิ่งต่างๆ เพื่อระบุว่า อะไรคือเหตุ และอะไรคือผล ได่อย่างสมบูรณ์ โดยเหตุต้องเกิดก่อนผลเสมอ แต่ผู้วิจัยแบบธรรมชาตินิยมเชื่อว่า ทุกสิ่งอย่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทำให้การระบุว่า อะไรเป็นเหตุ และอะไรเป็นผล ทำไม่ได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งที่เป็นผลอาจกลายเป็นสาเหตุได้เช่นกัน

ด้วยความเชื่อว่า ผู้วิจัยและสิ่งที่ถูกวิจัยเป็นอิสระต่อกัน ดังนั้น ผู้วิจัยแบบปฏิฐานนิยมจึงเชื่อว่า การวิจัยควรเป็นอิสระจากค่านิยมของผู้วิจัย ผลการวิจัยไม่ควรมีค่านิยมของผู้วิจัยปะปนอยู่ แต่ด้วยความเชื่อว่า ผู้วิจัยและสิ่งที่ถูกวิจัยแยกออกจากกันไม่ได้ ดังนั้น การวิจัยจึงผูกติดอยู่กับค่านิยมของผู้วิจัย ผลการวิจัยจึงมีค่านิยมของผู้วิจัยปะปนอยู่ไม่มากก็น้อย

ผมอยากเรียนอาจารย์ว่า ไม่มีกระบวนทัศน์แบบหนึ่งดีกว่าของอีกแบบหนึ่งนะครับ มันขึ้นอยู่กับว่า เรากำลังจะวิจัยเรื่องอะไร และกระบวนทัศน์ใดเหมาะกับการวิจัยนั้นครับ