กระบวนทัศน์การตีความ: การตีความซ้อนการตีความ

งานวิจัยเิชิงคุณภาพเพื่อศึกษาความเข้าใจของนักเรียน ตามโครงการ Inquiring Mind “ครูไทย หัวใจสืบเสาะ” ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กระบวนทัศน์การตีความ (Interpretive paradigm) ซึ่งมีความเชื่อกันว่า ความจริงของปรากฏการณ์ใดๆ เป็นสิ่งที่บุคคล ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมและเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นั้นได้สร้างขึ้น ความจริงเกี่ยวกับปรากฏการณ์นั้นจึงขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละคน และสามารถมีได้หลายมิติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตีความของแต่ละบุคคล

ในการเข้าใจความจริงของแต่ละบุคคลเกี่ยวกับปรากฏการณ์เดียวกัน ผู้วิจัยต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ซึ่งมีส่วนร่วมและเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นั้น ทั้งนี้เพื่อศึกษาว่า ปรากฏการณ์นั้นถูกตีความโดยบุคคลต่างๆ อย่างไรบ้าง ในการนี้ ผู้วิจัยก็ต้องตีความสิ่งที่บุคคลต่างๆ ตีความปรากฏการณ์นั้น โดยการตีความของผู้วิจัยคนหนึ่งอาจแตกต่างไปจากการตีความของผู้วิจัยอีกคนหนึ่งก็ได้ [เพราะความจริงของแต่ละบุคคลสามารถมีได้หลายมิติ] ดังนั้น เราอาจพูดได้ว่า ผู้วิจัยทำการตีความซ้อนการตีความ

ผมลองทำแผนภาพที่น่าจะสื่อถึงสาระสำคัญของกระบวนทัศน์การตีความได้ง่ายขึ้น ดังนี้ครับ

interpretive-paradigm

สมมติว่า ผู้วิจัยคนหนึ่งต้องการศึกษาว่า พลวิจัย จำนวน 5 คน เข้าใจปรากฏการณ์หนึ่งอย่างไร ผู้วิจัยคนนี้ต้องตระหนักว่า พลวิจัยแต่ละคนอาจรับรู้และตีความปรากฏการณ์เดียวกันนี้เหมือนหรือแตกต่างกันก็ได้ ตัวอย่างเช่น พลวิจัยคนที่ 1 และ 4 อาจตีความและเข้าใจว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นแบบหนึ่ง ส่วนที่พลวิจัยคนที่ 2 และ 3 อาจตีความและเข้าใจว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นอีกแบบหนึ่ง ในขณะที่พลวิจัยคนที่ 5 อาจตีความและเข้าใจปรากฏการณ์นี้ไม่เหมือนพลวิจัยคนใดเลย

ในการนี้ ผู้วิจัยก็ต้องเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล(เชิงคุณภาพ) จากพลวิจัย ซึ่งอาจโดยการสังเกต การสัมภาษณ์ และ/หรือการรวบรวมเอกสารต่างๆ ทั้งนี้เพื่อจัดกลุ่มความเข้าใจของพลวิจัยทั้งหมด จากตัวอย่างข้างต้น ผู้วิจัยอาจจัดกลุ่มความเข้าใจของพลวิจัยทั้ง 5 คน ออกเป็น 3 กลุ่ม (นั่นคือ A B และ C) สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของกระบวนการจัดกลุ่มนี้ก็คือการตีความหมายข้อมูลของผู้วิจัย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นการตีความปรากฏการณ์นั้นของพลวิจัย นั่นคือ ผู้วิจัยกำลังตีความ “การตีความของพลวิจัย” อีกทีหนึ่ง ในการนี้ ผู้วิจัยต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ผู้วิจัยคนอื่นๆ อาจตีความ “การตีความของพลวิจัย” เหมือนหรือแตกต่างไปจากการตีความของตนเอง

Comments

comments