ความก้าวหน้าในการบูรณาการความรู้เรื่องพลังงาน

เราลองมาดูความก้าวหน้าในการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งนะครับ ที่ไม่ใช่เรื่องของแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของ “ความสามารถในการบูรณาการความรู้

ในบทความวิจัยเรื่อง “Assessing Learning Progression of Energy Concepts Across Middle School Grades: The Knowledge Integration Perspective” ผู้วิจัยศึกษาว่า นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมี “ความสามารถในการบูรณาการความรู้เรื่องพลังงาน” อย่างไรบ้าง เราต้องไม่ลืมนะครับว่า พลังงานเป็นแนวคิดหนึ่งที่สำคัญและปรากฏอยู่ในวิชาวิทยาศาสตร์ต่างๆ ทั้งฟิสิกส์ (เช่น พลังงานกล) เคมี (เช่น พลังงานเคมี) ชีววิทยา (การถ่ายทอดพลังงานในโซ่อาหาร) และอื่นๆ ผู้วิจัยเห็นว่า หากนักเรียนจะเีข้าใจเรื่องพลังงานได้อย่างมีความหมายนั้น นักเรียนต้องสามารถเชื่อมโยงความรู้เกี่ยวกับพลังงานในบริบทที่หลากหลาย

ในการนี้ ผู้วิจัยได้พัฒนาคำถาม จำนวน 10 ข้อ สำหรับวัดและประเมินความสามารถในการบูรณาการความรู้เรื่องพลังงานขึ้น โดยคำถามส่วนหนึ่งถูกดัดแปลงมาจากข้อคำถามของ TIMSS และ NAEP โดยผู้วิจัยออกแบบให้สถานการณ์ของคำถามเกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิทยาศาสตร์ต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical science) วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life science) และ วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลก (Earth science) เดี๋ยวคราวหน้า ผมจะแปลตัวอย่างคำถามมานำเสนอครับ อาจารย์ลองศึกษาเอกสารต้นฉบับก่อนล่วงหน้าได้ครับ

คำถามแต่ละข้อมีทั้งแบบเลือกตอบและแบบเขียนตอบนะครับ โดยผู้วิจัยนำ “ความก้าวหน้าในการบูรณาการความรู้” มาเป็นเกณฑ์การให้คะแนน (Rubric score) ทั้งนี้เพื่อแปลงข้อมูลเชิงคุณภาพไปเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ แล้วจึงนำไปวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติครับ รายละเอียดมีดังนี้ครับ (หน้า 670)

ผู้วิจัยแบ่ง “ความสามารถในการบูรณาการความรู้” ออกเป็น 6 ขั้นนะครับ ดังนี้

ขั้นที่ 0 (No information) นักเรียนไม่ตอบคำถามครับ

ขั้นที่ 1 (Irrelevant) นักเรียนตอบคำถามไม่ตรงประเด็นครับ เช่น นักเรียนตอบไม่ตรงคำถาม

ขั้นที่ 2 (No-link) นักเรียนตอบตรงคำถามครับ แต่คำตอบไม่สอดคล้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ หรือ คำตอบไม่เชื่อมโยงกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์

ขั้นที่ 3 (Partial-link) นักเรียนตอบตรงคำถาม และคำตอบสอดคล้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 2 แนวคิด แต่ยังไม่มีการเชื่อมโยงหรือบูรณาการแนวคิดทางวิทยาศาสตร์เหล่านั้น

ขั้นที่ 4 (Full-link) นักเรียนตอบตรงคำถาม คำตอบสอดคล้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 2 แนวคิด และมีการเชื่อมโยงกันระหว่างแนวคิดทางวิทยาศาสตร์เหล่านั้นครับ

ขั้นที่ 5 (Complex-link) นักเรียนตอบตรงคำถาม คำตอบสอดคล้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ 3 แนวคิดหรือมากกว่านั้น และมีการเชื่อมโยงกันระหว่างแนวคิดทางวิทยาศาสตร์เหล่านั้นครับ

โดยคะแนนที่นักเรียนจะได้ก็เป็นไปตามลำดับขั้นครับ กล่าวคือ หากคำตอบอยู่ในขั้นที่ 0 ก็ได้ 0 คะแนน หากคำตอบอยู่ในขั้นที่ 1 ก็ได้ 1 คะแนน เป็นต้น

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักเรียนชั้น ป.6 ม.1 และ ม.2 จำนวนทั้งสิ้น 2,688 คน (สองพันหกร้อยแปดสิบแปดคนถ้วน) จาก 12 โรงเรียน ใน 5 รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา ผลการวิจัยโดยสรุปแบบสั้นที่สุดเป็นดังนี้ครับ (หน้า 679)

[S]tudents chose correct [multiple-choice] answers often without eliciting scientifically, normative, relevant, and elaborated ideas or links. […] Overall, student’s knowledge integration level with energy concepts across science contexts was not sophisticated.

นั่นคือ แม้ว่านักเรียนตอบคำถามแบบเลือกตอบได้ถูกต้อง แต่คำตอบที่นักเรียนเขียนกลับไม่ได้แสดงถึงการบูรณาการความรู้วิทยาศาสตร์เรื่องต่างๆ เลย

Comments

comments