Cognitive Apprenticeship

จากเรื่อง “Situative and Constructivist Learning” ซึ่งผมได้สัญญาไว้ว่า ผมจะนำเสนอแนวคิดทางทฤษฎีการเรียนรู้หนึ่งที่มีชื่อว่า “Cognitive Apprenticeship” ในมุมมองของผมเองแล้ว แนวคิดนี้เป็นการผสมผสานกันระหว่างแนวคิดทางทฤษฎีการเรียนรู้แบบ “Situated Learning” (ซึ่งเกิดขึ้นภายใน “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน“) และแนวคิดทางทฤษฎีการเรียนรู้โดยการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivist Learning) เนื่องจากแต่ละแนวคิดมีจุดเน้น(และข้อจำกัด)ของตนเอง ดังนั้น การผสมผสานทางแนวคิดนี้จึงเป็นการส่งเสริมกัน เพื่อให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

เนื่องจากแนวคิดแบบ “Situated Learning” เน้นการอธิบายการเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติงานจริง ซึ่งมักเกิดขึ้นในบริบทที่ไม่เป็นทางการ เป้าหมายของการเรียนรู้แบบนี้จึงมักเป็นการเรียนรู้ด้านทักษะ เจตคติ ความเชื่อ และค่านิยมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานนั้นๆ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานใดๆ มักเกี่ยวข้องกับความรู้และความเข้าใจด้วยเช่นกัน แต่การเรียนรู้ิสิ่งเหล่านี้ (ซึ่งเป็นด้านพุทธิพิสัย) มักไม่ปรากฏชัดเจน แต่แฝงอยู่ในการปฏิบัติงานนั้น ผู้เรียน (ซึ่งเป็นมือใหม่ของการปฏิบัติงานนั้น) จึงไม่สามารถสังเกตได้เลยว่า มืออาชีพกำลังคิดอะไรและอย่างไรในระหว่างการปฏิบัติงาน ทั้งนี้เพราะกระบวนการคิดไม่ใช่สิ่งที่ใครจะสังเกตได้โดยตรง การเรียนรู้แบบ “ครูพักลักจำ” จึงเป็นข้อจำกัดหนึ่งของการเรียนรู้แบบ “Situated Learning

ในขณะที่แนวคิดแบบ “Constructivist Learning” เน้นการอธิบายการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย ซึ่งผู้เรียนสร้างความหมายของสิ่งต่างๆ บนพื้นฐานของความรู้และความเข้าใจเดิมของตนเอง การเรียนรู้แนวคิดใหม่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ก็ต่อเมื่อแนวคิดใหม่นั้นสอดคล้องหรือเชื่อมโยงกับความรู้และึความเข้าใจเดิมของผู้เรียน ในขณะเดียวกัน การเรียนรู้แนวคิดใหม่จะเกิดขึ้นได้ยากกว่า หากแนวคิดใหม่นั้นไม่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับความรู้และความเข้าใจเดิมของผู้เรียน ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้จึงเน้นให้ผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดใหม่กับความรู้และความเข้าใจเดิมของตนเอง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแนวคิดนี้เน้นการอธิบายการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยเป็นหลัก โดยมักละเลยการนำผลการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยนี้ไปสู่การปฏิบัติงานจริง

โดยรวมแล้ว แนวคิดแบบ “Cognitive Apprenticeship” จะคล้ายกับแนวคิดแบบ “Situated Learning” มากครับ เพียงแต่แนวคิดแบบ “Cognitive Apprenticeship” เน้นการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยมากขึ้นกว่าแนวคิดแบบ “Situated Learning” คำว่า “Cognitive” สะท้อนจุดเน้นนี้ได้เป็นอย่างดีครับ เนื่องจากแนวคิดแบบ “Situated Learning” มีจุดอ่อนตรงที่ว่า ผู้เรียน (ซึ่งเป็นมือใหม่ของการปฏิบัติงานใดๆ ก็ตาม) มักมีข้อจำกัดในการสังเกตกระบวนการคิดในระหว่างการปฏิบัติงานของมืออาชีพ มือใหม่จึงไม่สามารถ “ฝึกคิด” ได้แบบเดียวกับมืออาชีพ ดังนั้น ในการส่งเสริมให้มือใหม่ได้เรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยในการปฏิบัติงานนั้น สิ่งที่มืออาชีพต้องทำให้เกิดขึ้นก็คือว่า มืออาชีพต้องทำให้ “กระบวนการคิด” ในระหว่างการปฏิบัติงานของตนเองชัดแจ้งขึ้นมา ผ่านกระบวนการที่มีชื่อว่า “Articulation” และ “Reflection”

ในการนี้ ผู้เขียนบทความเรื่อง “Cognitive Apprenticeship” ได้กล่าวไว้ว่า (หน้าที่ 51)

Articulation includes any method of getting students to explicitly state their knowledge, reasoning, or problem solving processes in a domain. … Also, teachers can encourage students to articulate their thoughts as they carry out their problem solving …

Reflection involves enabling students to compare their own problem solving process with those of an expert. … Reflection (can be) enhanced by the use of various techniques for reproducing or “replaying” the performances of both expert and novice for comparison.

นั่นคือ ในระหว่างการเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานใดๆ ครู (ซึ่งเป็นผู้ืัมีความเชี่ยวชาญมากกว่า) ควรให้นักเรียน (ซึ่งเป็นผู้ืัมีความเชี่ยวชาญน้อยกว่า) แสดงกระบวนการคิดของตนเองออกมาอย่างชัดแจ้ง [อันนี้คล้ายกับการศึกษาความรู้และความเข้าใจเดิมของนักเรียน] จากนั้น ครูจึงให้นักเรียนได้เปรียบเทียบระหว่างการปฏิบัติงาน (รวมทั้งกระบวนการคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติงานนั้น) ของตนเองและของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ปรับและฝึกการปฏิบัติงาน (รวมทั้งกระบวนการคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติงานนั้น) ของตนเองให้สอดคล้องกับของครูมากยิ่งขึ้น กระบวนการทั้งสองนี้ควรเกิดขึ้นร่วมกับกระบวนการอื่นๆ ตามแนวคิดแบบ “Situated Learning” ด้วย ทั้งการเป็นต้นแบบ (Modelling) การให้คำแนะนำระหว่างการปฏิบัติงาน (Coaching) และการให้ความช่วยเหลือระหว่างการปฏิบัติงาน (Scaffolding)

ในช่วงหลังมานี้ นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา(ในต่างประเทศ)ให้ความสนใจการส่งเสริมการเรียนรู้การปฏิบัติงานวิทยาศาสตร์ตามแนวคิดแบบ “Cognitive Apprenticeship” มากขึ้นนะครับ ดังตัวอย่างงานวิจัยต่อไปนี้

Comments

comments