การเปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือการเปลี่ยนแปลงประวัติแนวคิด

ผมมีบทความหนึ่งมานำเสนอครับ บทความนี้มีชื่อว่า “Conceptual Change or Conceptual Profile Change” เนื้อหาในบทความนี้เป็นการเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพื่อเปลี่ยนแปลงแนวคิดของนักเรียนครับ

ผมขออนุญาตปูพื้นนิดหนึ่งก่อนนะครับ ก่อนหน้าที่บทความเรื่องนี้ได้รับการเผยแพร่นั้น งานวิจัยส่วนใหญ่ที่ศึกษาแนวคิดของนักเรียน มุ่งเน้นให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในลักษณะที่ว่า นักเรียนควรละทิ้งแนวคิดเดิมที่คลาดเคลื่อน และมีแนวคิดใหม่ที่สอดคล้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ผู้วิจัย ณ ช่วงเวลานั้นเชื่อกันว่า หลังจากการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แล้ว นักเรียนควรมีแนวคิดใหม่ ซึ่งมา “แทนที่” แนวคิดเดิม

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบทความนี้ได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาว่า นักเรียนจำเป็นต้องละทิ้งแนวคิดเดิมไป เพื่อที่จะมีแนวคิดใหม่หรือไม่ นักเรียนสามารถมี 2 แนวคิด (หรือมากกว่านั้น) พร้อมกันได้หรือไม่ คำถามนี้นำไปสู่คำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติการสอนของครูว่า ครูจำเป็นต้องสอนให้นักเรียนละทิ้งแนวคิดเดิมให้หมดไป เพื่อให้นักเรียนมีแนวคิดใหม่หรือไม่ คำถามนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไรผิดปกตินะครับ เพราะเจตนาของครูและนักวิจัยก็คือการส่งเสริมให้นักเรียนมีแนวคิดใหม่ ที่สอดคล้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว แต่ผู้เขียนบทความได้เปิดมุมมองของนักวิจัยให้กว้างขึ้น ดังนี้ครับ

ผู้เขียนบทความเรื่องนี้เสนอว่า นักเรียนจำเป็นต้องมีแนวคิดใหม่ที่สอดคล้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ แต่นักเรียนไม่จำเป็นต้องละทิ้งแนวคิดเดิมของตนเอง เพราะในบางสถานการณ์ โดยเฉพาะสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน แนวคิดเดิมก็ยังมีประโยชน์สำหรับนักเรียนอยู่ (แม้ว่าแนวคิดเดิมนั้นไม่สอดคล้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม) ดังนั้น สิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนก็คือ นักเรียนควรมีทั้งแนวคิดทางวิทยาศาสตร์และแนวคิดเดิม แต่สิ่งสำคัญคือว่า นักเรียนต้องรู้ว่า แนวคิดไหนเหมาะกับสถานการณ์ใด และไม่เหมาะกับสถานการณ์ใด

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ เราก็รู้กันอยู่แล้วว่า ในทางวิทยาศาสตร์ น้ำหนักมีหน่วยเป็นนิวตัน ในขณะที่มวลมีหน่วยเป็นกิโลกรัม แต่ในชีวิตประจำวัน เรามักพูดกันเป็นปกติว่า “ส้มหนัก 1 กิโลกรัม” (ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์) ดังนั้น เราคาดหวังให้นักเรียนเข้าใจว่า หน่วยของน้ำหนักในทางวิทยาศาสตร์คือนิวตัน แต่เราคาดหวังด้วยหรือไม่ว่า นักเรียนต้องใช้หน่วยนิวตันทุกครั้งที่พูดถึงน้ำหนัก แม้กระทั่งตอนที่นักเรียนไปซื้อส้มในตลาดสด

โดยส่วนตัว ผมไม่คิดว่า นักเรียนต้องทำถึงขนาดนั้นครับ ผมคาดหวังแค่ว่า นักเรียนควรรู้ว่า เมื่อไหร่ที่พวกเขา(หรือเธอ)ต้องใช้นิวตันเป็นหน่วยของน้ำหนัก และเมื่อไหร่ที่พวกเขา(หรือเธอ)สามารถใช้กิโลกรัมเป็นหน่วยของน้ำหนักได้ ผมแค่อยากให้นักเรียนรู้ตัวว่า เมื่อไหร่การใช้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องจำเป็น และเมื่อไหร่การใช้แนวคิดเดิมเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้

เราไม่ได้อยากให้นักเรียนมีและใช้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ตลอดเวลา เราแค่อยากให้นักเรียนมีแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ และสามารถเลือกใช้แนวคิดนั้นได้ถูกที่ถูกเวลามากกว่า  ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์คงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงหรือแทนที่แนวคิด แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติแนวคิดมากกว่าครับ

Comments

comments