การทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

การศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Literature review) เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำวิจัยนะครับ เพราะมันทำให้้เราทราบว่า งานวิจัยที่เราจะทำ(หรือกำลังทำ)นั้นมีความก้าวหน้าไปอย่างไรแล้วบ้าง เราลองมาดูตัวอย่างงานวิจัย 2 เรื่องเกี่ยวกับพลังงานกันนะครับ ซึ่งผมได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว (เรื่องที่ 1 และ เรื่องที่ 2)

เรื่องที่ 1 นั้นเป็นการศึกษา “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้เรื่องพลังงาน” ซึ่งผู้วิจัยนำเสนอลำดับขั้น 4 ขั้นด้วยกัน คือ

  1. Forms and Sources
  2. Transfer and Transformation
  3. Dissipation
  4. Conservation

ส่วนเรื่องที่ 2 นั้นเป็นการศึกษา “ความก้าวหน้าในการบูรณาการความรู้เรื่องพลังงาน” แม้ว่าสาระสำคัญของงานวิจัยนี้เป็นเรื่องของการบูรณาการความรู้ แต่ผู้วิจัยก็นำเสนอ “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้เรื่องพลังงาน” เช่นกัน โดยมี 3 ลำดับขั้นคือ

  1. Sources
  2. Transformation
  3. Conservation

เราจะเห็นว่า ผลงานวิจัย 2 เรื่องมีความเหมือนและความต่างกันอยู่นะครับ ในการนี้ เวลาเราจะเขียนในส่วนของ “การศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง” เราอาจต้องพิจารณาด้วยว่า งานวิจัยใดเกิดก่อน และงานวิจัยใดเกิดหลัง ในการนี้ หากเราพิจารณาในส่วนของ “เอกสารอ้างอิง” เราจะพบว่า งานวิจัยเรื่องที่ 1 ได้อ้างงานวิจัยเรื่องที่ 2 นั่นก็หมายความว่า งานวิจัยเรื่องที่ 2 เกิดก่อนงานวิจัยเรื่องที่ 1 ซึ่งก็หมายความว่า งานวิจัยเรื่องที่ 2 อาจมีอิทธิพลต่องานวิจัยเรื่องที่ 1 ดังนั้น เราสามารถเขียนได้ว่า

ในการศึกษาพัฒนาการทางความเข้าใจของนักเรียนเกี่ยวกับพลังงาน [ผู้วิจัยเรื่องที่ 2] ได้เสนอว่า นักเรียนเริ่มต้นจากความเข้าใจเกี่ยวกับ “แหล่งของพลังงาน” ก่อน แล้วตามด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนรูปพลังงาน” และความเข้าใจเกี่ยวกับ “การอนุรักษ์พลังงาน” อย่างไรก็ดี [ผู้วิจัยเรื่องที่ 1] ได้เพิ่มเติมว่า ก่อนที่นักเรียนจะเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน นักเรียนควรเข้าใจก่อนว่า พลังงานแต่ละรูปมีคุณค่าไม่เท่ากัน และการเปลี่ยนรูปพลังงานอาจทำให้คุณค่าของพลังงานเปลี่ยนไป

อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการเขียน “การศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง” นะครับ

Comments

comments