ความก้าวหน้าในการเรียนรู้เรื่องการมองเห็น (หรืออะไรที่คล้ายกัน)

งานวิจัยเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ เริ่มได้รับความสนใจอย่างจริงจังในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมาครับ แต่งานวิจัยก่อนหน้านั้นก็ได้ศึกษาความเข้าใจของนักเรียนในเรื่องต่างๆ อยู่มากพอสมควรแล้ว เพียงแต่ผลการวิจัยยังไม่ได้ออกมาในรูปแบบ “ลำดับขั้น” ของความเข้าใจของนักเรียน ผลการวิจัยส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้นออกมาในลักษณะของกลุ่มความเข้าใจแบบต่างๆ เช่น ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Conception: SC) ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์บางส่วน (Partially scientific Conception: PC) และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน (Mis-Conception: MC) หรืออะไรทำนองนั้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้น (ก่อนปี ค.ศ. 2009) ผู้วิจัยบางคนก็เริ่มวิเคราะห์และจัด “ลำดับขั้น” ของความเข้าใจของนักเรียนในเรื่องต่างๆ บ้างแล้ว ซึ่งต่อมาก็ได้พัฒนามาเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการเรียนรู้ครับ

ผมมีตัวอย่างหนึ่งมานำเสนอครับ ในบทความวิจัยเรื่อง “Towards a phenomenography of light and vision” ซึ่งเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1996 ผู้วิจัยได้ศึกษางานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับความเข้าใจของนักเรียนเรื่องการมองเห็น แล้วนำความเข้าใจของนักเรียนเรื่องการมองเห็นมาจัดเป็น “ลำดับขั้น” ดังนี้ครับ (หน้า 840) โดยผู้วิจัยใช้ e (eye) แทน ดวงตา; o (object) แทน วัตถุ; s (source) แทน แหล่งกำเนิดแสง

ผู้วิจัยแบ่งออกเป็น 5 ขั้น ดังนี้ครับ

ในขั้นที่ 0 นักเรียนมีความเข้าใจพื้นฐานว่า การมองเห็นนั้นเกี่ยวข้องกับแสงและดวงตา แต่ไม่มีการระบุถึงกลไกใดๆ ที่ทำให้เกิดการมองเห็น

ในขั้นที่ 1 นอกจากนักเรียนเข้าใจว่า การมองเห็นเกี่ยวข้องกับแสงและดวงตา นักเรียนยังระบุถึงกลไกที่ทำให้เกิดการมองเห็นด้วยว่า การมองเห็นเกิดขึ้นเมื่อแสงเดินทางจากดวงตาไปยังวัตถุ (e→o)

ในขั้นที่ 2 นอกจากนักเรียนเข้าใจว่า การมองเห็นเกี่ยวข้องกับแสงและดวงตา นักเรียนยังระบุถึงกลไกที่ทำให้เกิดการมองเห็นด้วย โดยนักเรียนไม่เพียงแต่ระบุว่า การมองเห็นเกิดขึ้นเมื่อแสงเดินทางจากดวงตาไปยังวัตถุ (e→o) แต่ยังมีแสงเดินทางจากแหล่งกำเนิดไปยังดวงตาด้วย (s→e) [ในขั้นนี้ นักเรียนเริ่มเห็นบทบาทของแหล่งกำเนิดแสงแล้วครับ แต่ยังไม่มีการเชื่อมโยงกันระหว่าง 2 กลไกข้างต้น]

ในขั้นที่ 3A นอกจากนักเรียนเข้าใจว่า การมองเห็นเกี่ยวข้องกับแสงและดวงตา นักเรียนยังระบุด้วยว่า การมองเห็นเกิดขึ้นเมื่อแสงเดินทางจากดวงตาไปยังวัตถุ (e→o) แล้วยังมีแสงเดินทางจากแหล่งกำเนิดไปยังวัตถุด้วย (s→o) [ในขั้นนี้ นักเรียนเริ่มเชื่อมโยงระหว่าง 2 กลไกแล้วครับ แต่ยังไม่ถูกต้องนัก (s→o←e)]

ผมขอคั่นนิดนึงนะครับ ในขั้นที่ 0 – 3A นี้ นักเรียนยังเข้าใจว่า ดวงตามีบทบาทที่ “active” ในการมองเห็นครับ กล่าวคือ นักเรียนเข้าใจว่า แสงเดินทางออกจากดวงตาไปยังที่อื่นๆ

ในขั้นที่ 3B (ซึ่งอาจเกิดร่วมกับขั้นที่ 3A) นักเรียนเข้าใจว่า ดวงตามีบทบาทที่ “passive” ในการมองเห็น กล่าวคือ นักเรียนเข้าใจว่า แสงไม่ได้เดินทางออกจากดวงตา แต่แสงเดินทางเข้าสู่ดวงตา (s→e) แทน

ในขั้นที่ 4 นักเรียนเข้าใจถูกต้องแล้วว่า การมองเห็นเกิดขึ้นเมื่อแสงเดินทางจากแหล่งกำเนิดไปยังวัตถุและ(สะท้อน)มายังดวงตา (s→o→e)

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้วิจัยคิดขึ้นจากการศึกษางานวิจัยในอดีต โดยผู้วิจัยใช้ข้อมูลทุติยภูมิ (ผู้วิจัยไม่ได้เก็บข้อมูลเหล่านั้นเอง) แต่ในงานวิจัยเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการเรียนรู้ในปัจจุบัน ซึ่งผมได้นำเสนอไปหลายเรื่องแล้ว ผู้วิจัยส่วนใหญ่เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจากนักเรียนจริงๆ ซึ่งเป็นข้อมูลปฐมภูมิครับ

Comments

comments