การสังเกต การอนุมาน การบรรยาย การอธิบาย กฎ และทฤษฎี

ใน “ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551” เราจะพบคำสำคัญ เช่น “สังเกต” และ “อธิบาย” อยู่บ่อยๆ นะครับ แต่จริงๆ แล้ว ยังมีคำสำคัญอื่นอีกนะครับ เช่น “บรรยาย” และ “อนุมาน” ผมขอขยายความเกี่ยวกับความหมายของคำเหล่านี้หน่อยครับ

  • คำว่า “สังเกต” ตรงกับคำว่า “observe”
  • คำว่า “บรรยาย” ตรงกับคำว่า “describe”
  • คำว่า “อนุมาน” ตรงกับคำว่า “infer”
  • คำว่า “อธิบาย” ตรงกับคำว่า “explain”

การสังเกต” เป็นการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า (ไม่ใช่แค่ตานะครับ) ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติตามที่มันเป็น โดยไม่มีการลงข้อสรุปว่า เหตุใดธรรมชาติจึงเป็นแบบนั้น การสังเกตนำไปสู่ “การบรรยาย” ซึ่งเป็นการบันทึกหรือรายงานสิ่งที่ธรรมชาติเป็น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการสังเกตคือ “กฎ” ซึ่งบรรยายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ เช่น กฎการเคลื่อนที่ข้อที่ 2 ของนิวตัน (ΣF = ma) ซึ่งบรรยายความสัมพันธ์ระหว่างแรงลัพธ์ มวล และความเร่งของวัตถุ และ กฎของแก๊ส (PV = nRT) ซึ่งบรรยายความสัมพันธ์ระหว่างความดัน ปริมาตร จำนวนโมล และอุณหภูมิของแก๊ส

กฎเพียงแค่บรรยายว่า ธรรมชาติเป็นอย่างไร โดยไม่ได้บอกว่า เหตุใดธรรมชาติจึงเป็นเช่นนั้น

การอนุมาน” เป็นการคิดต่อยอดจากผลการสังเกต ทั้งนี้เพื่ออธิบายสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ในการนี้ นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ และประสบการณ์เดิมในการอนุมาน การอนุมานจากผลการสังเกตจะนำไปสู่การคาดเดาสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินั้น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการอนุมานนี้คือ “ทฤษฎี” ซึ่งอธิบายสิ่งที่ธรรมชาติเป็น เช่น ทฤษฎีจลน์ของแก๊ส ซึ่งอธิบายว่า เหตุใดแก๊สจึงมีสมบัติหรือพฤติกรรมตามกฎของแก๊ส

กฎบรรยายว่า ธรรมชาติเป็นอย่างไร ในขณะที่ทฤษฎีอธิบายว่า เหตุใดธรรมชาติจึงเป็นแบบนั้น

เรามาดูใน “ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551” กันนะครับ

ใน ว 6.1 ป. 5/4 (หน้า 76) ตัวชี้วัดระบุว่า “ทดลองและอธิบายการเกิดลมและนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน” และ สาระการเรียนรู้แกนกลางระบุว่า “…ลมเกิดจากการเคลื่อนที่ของอากาศตามแนวพื้นราบ อากาศบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง มวลอากาศจะขยายตัว(และ)ลอยตัวสูงขึ้น ส่วนอากาศบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำ มวลอากาศจะจมตัวลงและเคลื่อนไปแทนที่” คำว่า “อธิบาย” ในตัวชี้วัดนี้จึงระบุถึงสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ (ลม)

แต่ใน ว 5.1 ป. 4/2 (หน้า 64) ตัวชี้วัดระบุว่า “ทดลองและอธิบายการสะท้อนของแสงที่ตกกระทบวัตถุ” และ สาระการเรียนรู้แกนกลางระบุว่า “แสงตกกระทบวัตถุจะเกิดการสะท้อนของแสง โดยมีมุมตกกระทบเท่ากับมุมสะท้อน” คำว่า “อธิบาย” ในตัวชี้วัดนี้ไม่ได้ระบุถึงสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่เป็นการระบุถึงสิ่งที่ธรรมชาติเป็น ดังนั้น การใช้คำว่า “บรรยาย” น่าจะเหมาะสมกว่า เพราะการสะท้อนของแสงเป็นกฎ ไม่ใช่ทฤษฎี

ผมเห็นการใช้คำในตัวชี้วัดต่างๆ ที่อาจสร้างความสับสนได้ อาจารย์ต้องพิจารณาให้รอบคอบนะครับว่า จริงๆ แล้ว ตัวชี้วัดไหนหมายถึง “การบรรยาย” และ ตัวชี้วัดไหนหมายถึง “การอธิบาย

Comments

comments