อีกตัวอย่างของการทำวิจัยปฏิบัติการ

คราวก่อนผมได้นำเสนอตัวอย่างการทำวิจัยปฏิบัติการของครูวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา 4 คนไปแล้ว อย่างไรก็ดี ตัวอย่างนั้นยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ ทั้งนี้เพราะว่า ผู้เขียนรายงานฉบับนั้นไม่ใช่ครูที่ทำวิจัยปฏิบัติการ หากแต่เป็นการเขียนของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนให้ครูเหล่านั้นทำวิจัยปฏิบัติการ ในครั้งนี้ ผมขอนำเสนอรายวิจัยปฏิบัติการที่ครูวิทยาศาสตร์คนหนึ่งได้นำเสนอไว้ รายงานวิจัยนี้มีชื่อว่า “What Patterns of Teacher-Student Verbal Communication Exist in My Classroom?” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ผมอ่านแล้วรู้สึกว่า นี่แหละคือการวิจัยปฏิบัติการ(ตามที่ผมเข้าใจ)จริงๆ

ผมทบทวนนิดนึงนะครับว่า สาระสำคัญของการทำวิจัยปฏิบัติการนั้นก็คือ “การเปลี่ยนแปลง” โดยผู้วิจัยปฏิบัติการต้องเชื่อก่อนว่า ตนเองกำลังประสบกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหาและต้องการจะแก้ปัญหานั้น ในการนี้ ผู้วิจัยปฏิบัติการไม่สามารถมองว่า ตนเองลอยอยู่เหนือปัญหาหรือแยกตัวออกจากปัญหานั้นได้ ผู้วิจัยปฏิบัติการต้องไม่มองว่า ปัญหานั้นเกิดจากผู้อื่น 100% หากแต่ผู้วิจัยปฏิบัติการต้องมองว่า ตนเองเป็นสาเหตุ (หรืออย่างน้อยๆ เป็นส่วนหนึ่ง) ของปัญหานั้น ในการนี้ ผู้วิจัยปฏิบัติการจึงมุ่งแก้หรือบรรเทาปัญหานั้นในส่วนของตนเอง โดยการสำรวจตัวเองเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง ผู้วิจัยปฏิบัติการต้องเชื่อว่า การแก้ปัญหาที่ผู้อื่นเพียงอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาหรือทำให้ปัญหานั้นดีขึ้นได้ เว้นเสียแต่ว่าผู้วิจัยปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงในส่วนของตนเองก่อน เนื่องจากงานวิจัยปฏิบัติการเน้นให้ผู้วิจัยสำรวจและเปลี่ยนแปลงตนเอง ผู้วิจัยปฏิบัติการหลายคนจึงเขียนรายงานวิจัยโดยใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 (เช่น ฉัน ผม หรือแม้แต่ข้าพเจ้า) เพื่อแทนตัวเองและกล่าวถึงสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป

งานวิจัยที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ก็เป็นเช่นนั้น ผู้วิจัย (ซึ่งเป็นครูวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง) ก็แทนตัวเองว่า ” I ” ไม่ใช่ ” the researcher ” งานวิจัยเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้น เมื่อครูวิทยาศาสตร์คนนี้เริ่มเอะใจว่า ตนเองไม่สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดีพอ (นั่นคือ ครูวิทยาศาสตร์คนนี้มองว่า ปัญหาอยู่ที่ตัวเอง ไม่ใช่อยู่ที่นักเรียน) และต้องการหาวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนให้ดีขึ้น (นั่นคือ ครูวิทยาศาสตร์คนนี้ต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อแก้ปัญหานั้น) ในการนี้ ครูวิทยาศาสตร์คนนี้มองว่า ตนเองพูดมากเกินไปในระหว่างสอน ซึ่งทำให้นักเรียนขาดโอกาสในการอภิปรายร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่เป็นไปตามความเชื่อส่วนตัวของครูวิทยาศาสตร์คนนี้ ทั้งนี้เพราะทั้งๆ ที่เธอเชื่อว่า การอภิปรายร่วมกันระหว่างครูและนักเรียน (หรือแม้แต่การอภิปรายระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง) สามารถช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ แต่เธอก็ไม่ได้เน้นให้นักเรียนอภิปรายร่วมกันเท่าไหร่นัก ในทางทฤษฎีของการวิจัยปฏิบัติการ นักการศึกษาฝรั่งเรียกสภาวะนี้ว่า “ความขัดแย้งที่มีชีวิต” (living contradiction)

ถึงแม้ว่านักเรียนคนหนึ่งเคยบอกว่าครูวิทยาศาสตร์คนนี้ว่า เธอพูดมากเกินไปในขณะสอน แต่เธอก็ไม่ยอมรับในตอนแรก เธอจึงตัดสินใจสำรวจตัวเอง โดยการนำกล้องวีดีโอมาบันทึกการจัดการเรียนการสอนของเธอเอง เธอทำตามหลักการวิจัย(เชิงคุณภาพ)ทั่วไป โดยการนำกล้องวีดีโอนั้นมาวางไว้สักระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้นักเรียนคุ้นเคยและไม่ตื่นกล้องวีดีโอนั้น จนเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง เธอจึงเริ่มบันทึกการจัดการเรียนการสอนของตนเอง จากนั้น เธอวิเคราะห์การปฏิบัติการสอนของตัวเอง โดยการจัดกลุ่มคำพูดของตัวเองและของนักเรียนออกเป็น 10 กลุ่ม ซึ่งเธอได้มาจากงานวิจัยเรื่องหนึ่ง 10 กลุ่มนี้ประกอบด้วย

  1. คำพูดของครูที่แสดงถึงความเข้าอกเข้าใจนักเรียน
  2. คำพูดของครูที่แสดงถึงการชื่นชมหรือการให้กำลังใจนักเรียน
  3. คำพูดของครูที่แสดงถึงการยอมรับความคิดเห็นของนักเรียน
  4. การถามคำถามของครู
  5. การบรรยายหรือการให้ข้อมูลของครู
  6. คำพูดของครูที่สั่งให้นักเรียนปฏิบัติตาม
  7. คำพูดของครูที่มุ่งรักษาอำนาจการปกครองในชั้นเรียน
  8. คำพูดของนักเรียนที่โต้ตอบกับครู (ครูพูดก่อนแล้วนักเรียนโต้ตอบ)
  9. คำพูดที่นักเรียนเริ่นต้นขึ้นเอง
  10. ความเงียบ

ครูวิทยาศาสตร์คนนี้บันทึกข้อมูลในการจัดการเรียนการสอน 2 แบบ แบบแรกคือการจัดการเรียนการสอนแบบบรรยาย และการจัดการเรียนการสอนโดยการให้นักเรียนทำการทดลอง เธอเชื่อว่า เธอพูดน้อยลงในระหว่างที่นักเรียนทำการทดลอง

ผลการจัดกลุ่มคำพูดตัวเองของครูวิทยาศาสตร์คนนี้ปรากฏว่า ในระหว่างการจัดการเรียนการสอนแบบบรรยาย 70% ของการพูดทั้งหมดเป็นการพูดของครู ในขณะที่อีก 30% เป็นการพูดของนักเรียน และในระหว่างการจัดการเรียนการสอนโดยการทดลอง 67% ของการพูดทั้งหมดเป็นการพูดโดยครู ในขณะที่อีก 33% เป็นการพูดของนักเรียน นั่นหมายความว่า ไม่ว่าครูวิทยาศาสตร์คนนี้จะจัดการเรียนการสอนแบบใดก็ตาม เธอก็ยังคงเป็นผู้พูดซะส่วนใหญ่ อย่างน้อยก็ 60% กว่าๆ ในขณะที่นักเรียนมีโอกาสน้อยมากที่จะได้พูดและอภิปรายร่วมกัน เมื่อเธอพิจารณาเฉพาะคำพูดของตัวเอง เธอก็พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการบรรยายและการตั้งคำถาม (มันคงเป็นการถามคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบของนักเรียนเท่าไหร่ เพราะนักเรียนได้พูดจริงๆ น้อยมาก)

ผลการวิจัยนี้จึงทำให้ครูวิทยาศาสตร์คนนี้มุ่งมั่นว่า ตนเองต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพูดของตัวเอง เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดและอภิปรายร่วมกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงวัฏจักรแรกของการวิจัยปฏิบัติการ ซึ่งจะตามมาด้วยวัฏจักรที่ 2 เมื่อครูวิทยาศาสตร์คนนี้พยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพูดของตนเอง พร้อมทั้งศึกษาว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลอย่างไร และทำให้ปัญหานี้ลดลงได้หรือไม่  อย่างไรก็ตาม ผมยังหารายงานวิจัยปฏิบัติการวัฏจักรที่ 2 ของครูวิทยาศาสตร์คนนี้ยังไม่เจอครับ

ผมนำเสนองานวิจัยปฏิบัติการเรื่องนี้เพื่อแสดงว่า การวิจัยปฏิบัติจริงๆ นั้นไม่ใช่การสร้างแบบฝึก ชุดการสอน บทเรียนสำเร็จรูป หรืออะไรแบบนั้น แล้วหาประสิทธิภาพของสิ่งเหล่านี้ (นั่นคืองานวิจัยทั่วๆ ไปของนักการศึกษา) การวิจัยปฏิบัติการต้องเป็นการวิจัยเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองและศึกษาผลของการเปลี่ยนแปลงนั้น การสร้างแบบฝึก ชุดการสอน หรือบทเรียนสำเร็จ หรืออะไรที่คล้ายกันเหล่านี้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทั้งนี้เพราะการแก้ปัญหานั้นเป็นการแก้ปัญหาที่นักเรียน (โดยการให้นักเรียนฝึก ฝึก และฝึก) ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ครู ดังนั้น หากปัญหาอยู่ที่ครูหรือมาจากครู (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้น) แล้วครูไม่แก้ปัญหาที่ตนเอง ครูก็จะเจอปัญหาเดิมซ้ำๆ ทุกปี การวิจัยปฏิบัติการถูกนำมาใช้ในทางการศึกษาก็เพื่อให้ครูสำรวจตัวเอง เข้าใจตัวเอง และเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อให้ตนเองเป็นครูที่ดีขึ้น ดีขึ้น และดีขึ้น ตามลำดับ

Comments

comments