วิทยาศาสตร์คือวัฒนธรรม

ผมได้นำเสนอแนวคิด “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” ไปแล้วนะครับ ซึ่งผมได้สรุปแบบง่ายๆ ไว้ว่า ชุมชนแห่งการปฏิบัติงานก็คือกลุ่มคนที่ปฏิบัติงานเดียวกัน เช่น พนักงานขายประกันชีวิต พนักงานบัญชี ทนาย ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ครูวิทยาศาสตร์ หมอตำแย และอื่นๆ อีกมากมาย การปฏิับัติงานเดียวกันทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน เช่น ความรู้ ทักษะ ค่านิยม และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติงานนั้นๆ ในทำนองเดียวกัน ผู้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า “Cultivating Communities of Practice: A Guide to Managing Knowledge” ได้ให้คำนิยามของคำว่า “ชุมชนแห่งการปฏิบัติงาน” ไว้ดังนี้ (หน้าที่ 4)

Communities of practice are groups of people who share a concern, a set of problems, or a passion about a topic, and who deepen their knowledge and expertise in this area by interacting on an ongoing basis.

ชุมชนแห่งการปฏิบัติงานใดๆ มักประกอบด้วยกลุ่มคนหลายประเภท ซึ่งเราอาจจำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม ตามความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานนั้นเป็นเกณฑ์ ดังนี้

1. กลุ่มมืออาชีพ ซึ่งมักเป็นแกนนำในชุมชนแห่งการปฏิบัติงานนั้น
2. กลุ่มมือกลางๆ ซึ่งมักเป็นสมาชิกที่มีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอ
3. กลุ่มมือใหม่ ซึ่งมักเป็นผู้ซึ่งกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานนั้น
4. กลุ่มคนนอก ซึ่งแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานนั้นเลย

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ผู้เขียนได้สรุปเป็นแผนภาพ ดังนี้ (หน้าที่ 57)

cop

ในการนี้ เราอาจพิจารณาได้ว่า วิทยาศาสตร์ก็เป็นชุมชนแห่งการปฏิบัติงานหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนหลายประเภท ที่มีระดับความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์แตกต่างกันไป ได้แก่

1. มืออาชีพ ซึ่งก็คือนักวิทยาศาสตร์ผู้ซึ่งปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์
2. มือกลางๆ ซึ่งประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม และหนึ่งในนั้นก็คือครูวิทยาศาสตร์
3. มือใหม่ ซึ่งก็คือนักเรียนที่กำลังเรียนรู้วิทยาศาสตร์
4. คนนอก ผู้ซึ่งไม่สนใจและมีส่วนร่วมกับการปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ในระดับที่น้อยมาก

 เนื่องจากการเรียนรู้ภายในชุมชนแห่งการปฏิบัติงานใดๆ ก็คือการเรียนรู้ผ่านกระบวนการที่มีชื่อว่า “การมีส่วนร่วมจากรอบนอกอย่างชอบธรรม” ซึ่งมือใหม่ได้รับการโอกาสให้ฝึกปฏิบัติงานในระดับที่แตกต่างกันไป ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของมืออาชีพ จนกระทั่งมือใหม่สามารถปฏิบัติงานนั้นได้ด้วยตนเอง ดังนั้น การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของนักเรียน (ซึ่งเป็นมือใหม่) ก็คือการฝึกปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ภายใต้การดูแลและคำแนะนำจากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญมากกว่า (ซึ่งในที่นี้ก็คือครูวิทยาศาสตร์) ในการนี้ นักเรียนจะค่อยๆ มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงการที่มือใหม่เคลื่อนตัวเองจาก “รอบนอก” มายัง “ใจกลาง” ของชุมชนแห่งการปฏิบัติงานนั้นนั่นเอง โดยมือใหม่แต่ละคนก็อาจเคลื่อนตัวเองเข้าใกล้ใจกลางนั้นได้ในระดับที่แตกต่างกันไป

cop2

นักวิทยาศาสตร์ศึกษาบางท่านก็มีแนวคิดที่คล้ายๆ กันนี้ ซึ่งเขามองว่า “วิทยาศาสตร์ก็คือวัฒนธรรม” (Science as culture) มันเป็นวัฒนธรรมภายในชุมชนแห่งการปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น  การเรียนรู้วิทยาศาสตร์(ภายใต้มุมมองนี้)ก็จะคล้ายกับการที่คนหนึ่งซึ่งมาจากวัฒนธรรมหนึ่ง และกำลังเรียนรู้อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมเดิมของตนเอง นั่นคือ นักเรียนก็เป็นเสมือน “นักท่องเที่ยว” ซึ่งกำลังเรียนรู้วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ซึ่งแตกต่างไปจากวัฒนธรรมในชีวิตประจำวันของตนเอง ในขณะที่ครูวิทยาศาสตร์ก็เป็นเสมือน “มัคคุเทศก์” ซึ่งพานักเรียนเที่ยวชมและศึกษาวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างงานวิจัย ซึ่งเปรียบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เสมือนกับการก้าวข้ามขอบเขตทางวัฒนธรรม (Learning as Crossing Cultural Borders)

จากมุมมองนี้ เราอาจลองจินตนาการว่า เราเป็นนักท่องเที่ยวจากวัฒนธรรมหนึ่ง และกำลังเรียนรู้อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ภายใต้การนำเที่ยวของมัคคุเทศก์คนหนึ่ง ในฐานะนักท่องเที่ยวคนหนึ่ง เราก็อยากเรียนรู้ทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับวัฒนธรรมใหม่นั้น ทั้งสถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือน ประเพณี พิธีการ การแต่งกาย อาหาร ภาษา การกินอยู่ต่างๆ เป็นต้น และในขณะเดียวกัน มัคคุเทศก์ก็อยากให้เราได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยเวลาที่จำกัด มัคคุเทศก์ไม่สามารถพาเราไปเยี่ยมชมทุกสถานที่ ชิมอาหารทุกชนิด และมีส่วนร่วมกับทุกพิธีการ ทางออกเดียวของมัคคุเทศก์ก็คือการเลือกพาเราไปเพียงบางสถานที่ที่สำคัญ ชิมอาหารบางชนิดที่มีชื่อเสียง และแวะชมบางพิธีการที่เป็นเอกลักษณ์เท่านั้น ด้วยความหวังดีของมัคคุเทศก์ นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็อาจรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับกิจกรรมการท่องเที่ยวที่อัดแน่นภายในเวลาที่จำกัด จนในบาง(หรือบ่อย)ครั้ง นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็อยากจะหยุดพักและไม่อยากเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรมใหม่นั้น

วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ก็มีรายละเอียดมากมายครับ ทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เจตคติทางวิทยาศาสตร์ และความเชื่อ/ค่านิยมทางวิทยาศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ก็เปรียบได้กับสถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือน ประเพณี พิธีการ การแต่งกาย อาหาร ภาษา และการกินอยู่ในวัฒนธรรมหนึ่งๆ ซึ่งยากที่ใครจะเรียนรู้ให้เข้าใจและเชี่ยวชาญได้ภายในเวลาจำกัด และในท้ายที่สุด การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ก็ไม่ต่างอะไรกับการท่องเที่ยวแบบที่ว่า “แวะที่นี่แป๊บนึง แวะที่นั่นหน่อยนึง” โดยที่นักเรียนแทบไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการเที่ยวชมวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์

มัคคุเทศก์ที่เป็นมืออาชีพมักรู้ว่า อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดในวัฒนธรรมหนึ่ง เขา/เธอต้องรู้จักเลือกนำเสนอสิ่งสำคัญเหล่านั้นให้ได้ภายใต้เวลาที่จำกัด ครูวิทยาศาสตร์ก็ไม่ต่างกันครับ (ในฐานะมัคคุเทศก์ของวัฒนธรรมทางวิทยาศาสตร์) เราก็ต้องรู้จักเลือกและจัดลำดับได้ว่า อะไรคือสิ่งสำคัญในวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ เพื่อที่เราจะสามารถนำเสนอสิ่งเหล่านั้นได้ภายในช่วงเวลาที่จำกัด

Comments

comments