การบรรยายบริบทอย่างหนา (Thick Description)

จากโพสที่แล้ว ซึ่งผมได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง “The Impact of a Science Demonstration on Children’s Understandings of Air  Pressure” และผมก็ได้ทิ้งประเด็นไว้ว่า “เราควรจะเชื่อผลการวิจัยนี้โดยทันทีหรือไม่ เพราะเหตุใด”

เจตนาของการนำเสนอไม่ใช่การดีสเครดิตงานวิจัยนี้นะครับ แต่ผมจะนำเสนอว่า ในการเขียนรายงานวิจัยเชิงคุณภาพนั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้วิจัยเชิงคุณภาพจะต้องระบุเสมอคือ “การบรรยายบริบทของการวิจัยอย่างละเอียด” ซึ่งในวงการวิจัยเชิงคุณภาพ เขาเรียกกันว่า Thick Description (บางคนอาจแปลคำนี้ตามตัวอักษรว่า “การบรรยายอย่างหนา”) โดยคำบรรยายบริบทของการวิจัยนี้จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถตัดสินใจได้ว่า เขาควรจะเชื่อผลการวิจัยนั้นหรือไม่

ตัวอย่างเช่น จากบทความวิจัยข้างต้น ผู้วิจัยได้ระบุไว้ว่า “the two teachers decided to … conducting the demonstrations as a team, with all 52 of their students together in one large room. The teachers performed the demonstrations for the children at a large library desk in the school media center, with the 52 children seated on the floor in front of the desk. (p. 245 – 246)” นั่นคือ ผู้วิจัยทำการสาธิตในห้องขนาดใหญ่ โดยให้นักเรียนทั้ง 52 คน นั่งบนพื้นและสังเกตปรากฏการณ์พร้อมกัน

จากคำบรรยายนี้ ผู้อ่านก็ต้องคิดต่อไปว่า ด้วยจำนวนนักเรียนขนาดนั้น นักเรียนบางคนอาจไม่สามารถทำการสังเกตได้อย่างชัดเจน และอาจได้รับการรบกวนจากเพื่อนๆ (การดูแลจากครูอาจไม่ทั่วถึง) ดังนั้น การที่ผลการวิจัยปรากฎออกมาว่า มีนักเรียนประมาณ 1 ใน 3 ที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดหลังจากการสังเกต ก็เป็นเรื่องที่มีเหตุมีผลอยู่ นั่นคือ ผู้อ่านสามารถนำข้อมูลจากการบรรยายบริบทมาใช้ในการประกอบการตัดสินใจ นอกจากนี้ การบรรยายบริบทของการวิจัยยังมีประโยชน์กับผู้วิจัยในแง่ของการอภิปรายผลการวิจัยอีกด้วย

อาจารย์จะเห็นว่า หากบริบทของการวิจัยแตกต่างไปจากเดิม (เช่น สมมติว่า ผู้วิจัยให้นักเรียนสังเกตปรากฏการณ์เป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละประมาณ 4 – 5 คน) ผลการวิจัยที่ได้ก็อาจแตกต่างไปจากเดิม นั่นคือ ผลการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับบริบทของการวิจัยที่เกิดขึ้น ซึ่งในวงการวิัจัยเชิงคุณภาพ เขาเรียกกันว่า “Context-bound” ครับ

ถึงตรงนี้ ผมจึงอยากย้ำให้อาจารย์บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ทำวิจัย ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อผลการวิจัย เพราะตอนเขียนรายงานวิจัย อาจารย์ต้องนำข้อมูลนี้มาเขียนเป็น “การบรรยายบริบทของการวิจัยอย่างละเอียด” ครับ