การทำ Audit Trail

สวัสดีอาจารย์ทุกท่านครับ,

ตอนนี้ อาจารย์ทุกท่านคงเดินทางถึงที่พักอย่างสวัสดิภาพแล้วนะครับ หลังจากการอบรมกันมา 4 วัน อาจารย์สามารถชมภาพการอบรมได้ที่เมนู Gallery นะครับ

ผมมีีเรื่องหนึ่งที่อยากบอกกับอาจารย์ และอยากให้อาจารย์ได้ทำในขณะที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ นั่นคือ การทำสิ่งที่นักวิจัยเชิงคุณภาพเรียกกันว่า Audit Trail  (อาจารย์สามารถอ่านรายละเอียดทางทฤษฎีได้ในบทความเรื่อง “คุณภาพของงานวิจัยเชิงคุณภาพ” โดย ดร. จีระวรรณ เกษสิงห์ ในหนังสือ “การวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อศึกษาความเข้าใจของนักเรียน“)

หากเราแปลคำว่า Audit Trail ในทางบัญชี คำนี้ก็คงจะหมายถึง การตรวจสอบบัญชี ซึ่งเป็นสิ่งที่นักบัญชีทำการบันทึกการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในบัญชีรายรับรายจ่ายในช่วงเวลาต่างๆ

ในการวิจัยเชิงคุณภาพก็มีกระบวนการที่คล้ายๆ กันนี้ครับ แต่เป็นการบันทึกกระบวนการจัดกระทำข้อมูลในระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ

ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ เราก็ต้องมีการบันทึกและจัดเก็บการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับข้อมูลของเรา ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งเป็นผลการวิจัย กล่าวคือ อาจารย์ต้องเก็บข้อมูล ณ ช่วงเวลาต่างๆ ของการวิจัยเชิงคุณภาพเอาไว้ ตั้งแต่ข้อมูลดิบ (เช่น ไฟล์เสียงที่ได้จากการสัมภาษณ์/สังเกต) ข้อมูลเอกสาร (เช่น ไฟล์เอกสารที่ได้จากการถอดคำพูดแบบคำต่อคำ) ข้อมูลส่วนย่อยต่างๆ ที่ได้จากการแตกข้อมูลออกเป็นส่วนย่อย รหัสที่อาจารย์ตีความข้อมูลส่วนย่อยแต่ละส่วน กลุ่มข้อมูลที่อาจารย์จัดไว้ และเกณฑ์ที่อาจารย์ใช้ในการจัดกลุ่ม

การทำแบบนี้จะช่วยให้อาจารย์ทราบได้ว่า ข้อมูลเชิงคุณภาพเหล่านั้นถูกจัดกระทำให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ข้อมูลดิบจนกระทั่งเป็นผลการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้น หากมีการทำ Audit Trail เอาไว้ อาจารย์ก็สามารถชี้แจงให้ผู้อื่นเห็นว่า อาจารย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพอย่างไรบ้าง ตรงนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นตรวจสอบว่า มีอคติส่วนตัวของอาจารย์เข้ามาปะปนในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลบ้างหรือไม่ อย่างไร

ในกรณีของการส่งผลงานวิจัยไปเผยแพร่ในวารารต่างๆ ในบางครั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิอาจขอให้อาจารย์แสดงกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล และขอดูข้อมูลในแต่ละช่วงของการวิเคราะห์ข้อมูล ก่อนการอนุญาตให้มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยนั้น

ในการนี้ อาจารย์อาจสร้างโฟล์เดอร์ต่างๆ ไว้เก็บข้อมูลแต่ละช่วง เช่น

  • โฟลเดอร์ที่ 1 เก็บข้อมูลที่เป็นไฟล์เสียง
  • โฟล์เดอร์ที่ 2 เก็บข้อมูลที่เป็นไฟล์เอกสารที่ได้จากการถอดคำพูด
  • โฟล์เดอร์ที่ 3 เก็บข้อมูลส่วนย่อยต่างๆ ที่ได้จากการแตกข้อมูลเป็นส่วนย่อย
  • โฟล์เดอร์ัที่ 4 เก็บกลุ่มข้อมูลต่างๆ และเกณฑ์ในการจัดกลุ่ม (หากมีการเปลี่ยนแปลงผลการจัดกลุ่มหลายครั้ง อาจารย์ก็ควรเก็บและบันทึกผลการจัดกลุ่มข้อมูลแต่ละครั้งไว้)

อาจารย์อย่าทิ้งข้อมูลในทุกช่วงของการวิเคราะห์ข้อมูลนะครับ อาจารย์ควรทำสำเนาข้อมูลในทุกช่วงของการวิเคราะห์ข้อมูล เผื่อมีใครต้องการตรวจสอบกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลของอาจารย์

เราเรียกกระบวนการนี้ว่า Audit Trail ครับ