การจัดการศึกษาในประเทศเยอรมัน

สวัสดีครับ ผมห่างหายไปจากเว็บไซต์พักใหญ่ๆ เนื่องจากผมได้เดินทางไปดูการจัดการศึกษาในประเทศเยอรมัน ผมไปมา 3 รัฐ คือ แฟรงก์เฟิร์ต เบอร์ลิน และมิวนิก ผมแทบไม่ได้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเลยครับ เพราะค่าอินเตอร์เน็ตค่อนข้างแพง (สำหรับผม) ผมขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับอาจารย์นิดนึงนะครับ ก่อนที่ผมจะสรุปเป็นรายงานส่งผู้ใหญ่อีกครั้ง

ในการเดินทางครั้งนี้ เป้าหมายของเราก็คือการไปศึกษาว่า ประเทศเยอรมันมีการเตรียมประชากรของตนเองอย่างไร ให้พร้อมสำหรับการเข้าสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่สูงมากของทวีปยุโรป อาจารย์คงพอทราบนะครับว่า หลายๆ ประเทศในทวีปยุโรปกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยและอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาของประเทศเยอรมันครับ อัตราการว่างงานของคนเยอรมันต่ำมาก (ผมจำค่าร้อยละไม่ได้ครับ) เราจึงอยากรู้ว่า ประเทศเยอรมันเตรียมประชากรของตนเองอย่างไรให้พร้อมกับการเป็นส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ

ในประเทศเยอรมัน แต่ละรัฐมีอำนาจในการจัดการศึกษาของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน แต่รายละเอียดบางอย่างก็แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย โดยทั่วไปแล้ว นักเรียนเยอรมันก็เข้าสู่ระบบโรงเรียน โดยเริ่มต้นจากระดับประถมศึกษาที่ 1 – 4 ครับ จากนั้น นักเรียนก็ต้องเลือกประเภทของโรงเรียน ซึ่งอาจมี  2 – 3 ประเภท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐครับ [ค่าว่า Schule จะตรงกับคำว่า School นะครับ]

โรงเรียนประเภทแรกมีชื่อว่า Hauptschule ซึ่งเน้นการฝึกอาชีพต่างๆ เช่น งานเหล็ก งานไม้ งานประปา งานไฟฟ้า งานธุรกิจ งานคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย นักเรียนอาจใช้เวลาเรียนประมาณ  5 – 6 ปีครับ และสามารถเรียนต่อวิทยาลัย และเข้าสู่มหาวิทยาลัยต่อไปได้ หากเทียบกับประเทศไทย โรงเรียนประเภทนี้คงคล้ายๆ กับสถาบันอาชีวศึกษาครับ

โรงเรียนประเภทที่สองมีชื่อว่า Gymnasium ซึ่งเน้นวิชาการครับ [หากเราดูแค่ชื่อ เราอาจจะเข้าใจไปเองว่า โรงเรียนประเภทนี้เน้นกีฬา แต่ไม่ใช่นะครับ] โรงเรียนประเภทนี้เน้นการเตรียมนักเรียนเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยครับ นักเรียนใช้เวลาประมาณ 9 ปี ก่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัยครับ โดยนักเรียนจากทุกรัฐต้องสอบแข่งกันครับ เขามีข้อสอบกลางที่มีชื่อว่า Abitur ครับ หากเทียบกับประเทศไทย โรงเรียนประเภทนี้คงคล้ายๆ กับโรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของเรานั่นเอง ส่วนข้อสอบ Abitur ก็คงเป็นข้อสอบ Entrance ของเราในอดีตครับ

โรงเรียนอีกประเภทหนึ่งมีชื่อว่า Realschule ซึ่งตามโครงสร้างแล้วเป็นโรงเรียนที่อยู่ระหว่าง Hauptschule และ Gymnasium กล่าวคือ หากนักเรียนยังไม่แน่ใจหรือยังไม่ได้ตัดสินใจว่า ตนเองจะเลือกโรงเรียนประเภทใด นักเรียนสามารถเลือกเรียนใน Realschule ซึ่งจะมีทั้งการฝึกอาชีพและวิชาการในสัดส่วนพอๆ กัน (ในบางรัฐ เช่น เบอร์ลิน เขาจะรวม Hauptschule และ Realschule เข้าด้วยกันครับ)

การจัดการศึกษาของประเทศเยอรมัน โดยเฉพาะในช่วงประถมศึกษา จะเน้นหลักๆ เพียง 2 วิชาครับ คือ ภาษาเยอรมันและคณิตศาสตร์ ส่วนวิชาอื่นๆ นั้น (รวมทั้งวิทยาศาสตร์) จะสำคัญรองลงมา และจะค่อยๆ มีมากขึ้นตามสาขาวิชาชีพที่นักเรียนเลือกในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น

การจัดการศึกษาของประเทศเยอรมันจะเน้นให้นักเรียนรู้จักตนเอง เพื่อให้นักเรียนทราบว่า ตนเองชอบและอยากประกอบวิชาชีพใด ซึ่งเราจะเห็นได้จากการที่เขาให้นักเรียนเลือกประเภทโรงเรียนที่ค่อนข้างเร็ว (ป. 4) เมื่อเทียบกับประเทศไทย (ม. 3) นอกจากนี้ เขายังมีโครงการแนะแนวทางวิชาชีพสำหรับนักเรียนเป็นปกติและเป็นรายบุคคลด้วยครับ ซึ่งบริษัทต่างๆ จะเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทมากในส่วนนี้ด้วยครับ การเรียนรู้ของนักเรียนเยอรมันจึงค่อยข้างมีความหมาย เพราะนักเรียนจะรู้ว่า ตนเองจบไปแล้วจะทำหรือประกอบอาชีพอะไร เราคงแปลกใจน้อยลงนะครับว่า เหตุใดอัตราการว่างงานของคนเยอรมันจึงต่ำมาก

จากข้อมูลข้างต้น หลายคนอาจมีคำถามว่า การให้นักเรียนเลือกโรงเรียน (รวมทั้งแนวทางการประกอบอาชีพ) เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 นั้น เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยหรือไม่ กล่าวคือ นักเรียนไทยในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พร้อมสำหรับการเลือกอาชีพแล้วหรือยัง คำตอบของคำถามนี้คงต้องผ่านการถกเถียงกันอีกพอสมควรครับ

จากการสังเกตการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปของคนเยอรมัน ผมขอเรียนว่า การเลี้ยงดูบุตรหลานของคนเยอรมันและของคนไทยอาจแตกต่างกัน ตอนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ผมยังไม่เคยคิดเลยว่า ตัวเองจะประกอบอาชีพอะไร

Comments

comments