ตัวอย่างงานวิจัยแบบต่อเนื่อง (จากตื้นไปลึก)

ผมเคยนำเสนอ “ตัวอย่างงานวิจัยแบบต่อเนื่อง (จากเล็กไปใหญ่)” มาแล้ว ซึ่งในงานวิจัยนั้น ผู้วิจัยเริ่มศึกษาความเข้าใจของนักเรียนจำนวนน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยนำผลการวิจัยที่มาเป็นแนวทางในการสร้างเครื่องมือและวิจัยกับนักเรียนจำนวนมากขึ้น คราวนี้ ผมขอนำเสนองานวิจัยแบบต่อเนื่อง (จากตื้นไปลึก) บ้างแล้วกันครับ

งานวิจัยที่ว่านี้มีชื่อว่า “A Topology of Causal Models for Plate Tectonics: Inferential Power and Barriers to Understanding” โดยผู้วิจัยเริ่มต้นจากการศึกษาความเข้าใจของนักเรียนชั้น ป.5 จำนวน 40 คน เกี่ยวกับการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก  โดยการให้นักเรียนอ่านข้อความต่าง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชั้นต่างๆ ของโลก การเคลื่อนที่ภายในชั้นต่างๆ ของโลก การเกิดปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา ได้แก่ การเกิดภูเขา การระเบิดของภูเขาไฟ และการขยายพื้นที่ของมหาสมุทร หลังจากนั้น ผู้วิจัยให้นักเรียนวาดภาพเพื่อแสดงความเข้าใจของตนเองเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อความเหล่านั้น [การศึกษาความเข้าใจของนักเรียน เมื่ออ่านเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์แล้ว ก็เป็นการวิจัยอีกหัวข้อที่น่าสนใจนะครับ โดยเฉพาะในระดับชั้นประถมศึกษา เพราะมันเป็นการบูรณาการกันระหว่างการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และการเรียนรู้ด้านภาษา]

จากนั้น ผู้วิจัยก็ทำการวิเคราะห์ภาพที่นักเรียนวาด เพื่อดูว่านักเรียนเข้าใจเนื้อหาของข้อความเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาอย่างไร ผลที่ได้เป็นพื้นฐานของการวิัจัยในเชิงลึกต่อไปครับ

เมื่อได้ผลในเบื้องต้นมาแล้ว ผู้วิจัยทำการวิจัยเชิงลึกมากขึ้น ในการนี้ ผู้วิจัยเลือกนักเรียนมาเพิ่มอีก 7 คน โดยผู้วิจัยทำแบบเดิม นั่นคือการให้นักเรียนทั้ง 7 คน อ่านเนื้อหาทางธรณีวิทยา แล้วก็ให้นักเรียนวาดภาพ เพื่อแสดงความเข้าใจของตนเอง จากนั้น ผู้วิจัยทำการสัมภาษณ์เพิ่มเติมด้วย เพี่อระบุว่าอะไรที่น่าจะเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน

จากนั้น ผู้วิจัยทำการสอนนักเรียนทั้ง 7 คน เกี่ยวกับการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก พร้อมทั้งทำวิจัยแบบกรณีศึกษากับนักเรียน 2 คนไปด้วย โดยนักเรียนคนหนึ่งประสบปัญหาอย่างมากในการเรียนรู้เรื่องนี้ ในขณะที่นักเรียนอีกคนมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้เรื่องนี้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้วิจัยสามารถระบุได้อย่างชัดเขนมากขึ้นว่า อะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้เรื่องการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก [อันที่จริง ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากนักเรียนทั้ง 7 คนครับ แต่นำเสนอเป็นกรณีศึกษาเพียง 2 คนเท่านั้น]

ถึงตรงนี้ อาจารย์คงเห็นแล้วว่า ผู้วิจัยเริ่มศึกษาในขอบเขตที่กว้างๆ (แต่ตื้น) ก่อน แล้วเมื่อได้ข้อมูลและผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น ผู้วิจัยค่อยๆ ศึกษาในขอบเขตที่แคบ (แต่ลึก) มากยิ่งขึ้น

ผลการวิจัยแบบสรุปเป็นดังนี้ครับ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาต่างๆ ก็คือความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับรูปร่างและโครงสร้างภายในของโลกครับ

ในกรณีศึกษากับนักเรียน 2 คน ผู้วิจัยพบว่า นักเรียนคนที่ 1 มีความเข้าใจในลักษณะที่ว่า โลกแบน ดังจะเห็นได้จากภาพที่นักเรียนคนนี้วาด ซึ่งไม่ได้เป็นวงกลมที่มีแก่นโลก (Core) อยู่ตรงกลาง และมีเนื้อโลก (Mantle) และเปลือกโลก (Crust) อยู่รอบนอก ตามลำดับ ในทางตรงข้าม นักเรียนคนนี้วาดเปลือกโลก เนื้อโลก และแก่นโลก เรียงกันเป็นชั้น ตามลำดับ ในขณะที่นักเรียนอีกคนหนึ่งวาดภาพโลกเป็นวงกลม ซึ่งตรงกลางเป็นแก่นโลก โดยมีเนื้อโลกและเปลือกโลกล้อมรอบอยู่ ตามลำดับ แสดง(หน้า 94)

ความเข้าใจพื้นฐานที่แตกต่างกันนี้ทำให้นักเรียน 2 คน เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาได้แตกต่างกัน กล่าวคือ หลังจากการอ่านเนื้อหาทางธรณีวิทยาแล้ว นักเรียนคนที่ 1 ไม่สามารถนำข้อมูลจากการอ่าน (เช่น การมีอยู่ของของเหลวร้อนภายในโลก แรงดันโดยของเหลวร้อนภายในโลก การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกเนื่องจากแรงดันนั้น) มารวมกับความเข้าใจของตนเองได้ ในขณะที่ นักเรียนคนที่ 2 ซึ่งมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับรูปร่างและโครงสร้างภายในของโลก นำข้อมูลจากการอ่านมารวมเข้ากับความเข้าใจของตนเองได้ครับ ทั้งนี้เพื่อข้อมูลจากการอ่านและความเข้าใจเดิมของนักเรียนคนที่ 2 ไม่ขัดแย้งกันครับ

อันนี้เป็นตัวอย่างที่ผู้วิจัยค่อยๆ บีบงานวิจัยของตัวเองให้ละเอียดมากขึ้นครับ

Comments

comments