กฎของฟาติมา

ผมมีงานวิจัยที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งมานำเสนอครับ งานวิจัยเรื่องนี้มีชื่อว่า “Fatima’s Rules and Other Elements of an Unintended Chemistry Curriculum”  ที่ผมบอกว่างานวิจัยเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะงานวิจัยนี้ค่อนข้างแตกต่างไปจากงานวิจัยอื่นๆ ครับ กล่าวคือ ในขณะที่งานวิจัยส่วนใหญ่มุ่งศึกษาว่า นักเรียนเกิดการเรียนรู้อะไรบ้างที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร แต่งานวิจัยนี้กลับมุ่งศึกษาว่า นักเรียนเกิดการเรียนรู้อะไรบ้างที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

หากอาจารย์์เคยเรียนเรื่องหลักสูตร อาจารย์คงเคยได้ยินคำว่า “Intended Curriculum” “Implemented Curriculum” “Learned Curriculum” และ “Unintended Curriculum” ผมขอสาธยายนิดนึงแล้วกันนะครับ

เวลาที่เรามีหลักสูตรขึ้นมา 1 หลักสูตร ซึ่งจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรก็แล้วแต่ เราจะเรียกเนื้อหาของหลักสูตรตามเจตนาของผู้พัฒนาหลักสูตรนั้นว่า “Intended Curriculum” อย่างไรก็ตาม การนำหลักสูตรไปใช้จริงๆ จะเป็นไปตามเจตนาของผู้พัฒนาหลักสูตรนั้นหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น เราจะเรียกหลักสูตรที่ถูกนำไปใช้จริงๆ ว่า “Implemented Curriculum” หรือ “Taught Curriculum” ครับ ตัวอย่างเช่น ผู้พัฒนาหลักสูตรมีเจตนาเน้นการสอนแบบการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-Based Instruction) อันนี้ก็เป็น “Intended Curriculum” ครับ แต่ผู้สอนจริงๆ อาจสอนโดยใช้การสืบเสาะหาความรู้หรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องนึง ผู้สอนอาจสอนแบบการบรรยายก็ได้ อันนี้เป็น “Implemented Curriculum” ครับ ดังนั้น “Intended Curriculum” และ “Implemented Curriculum” อาจสอดคล้องกันหรือไม่ก็ได้ครับ

คราวนี้ เมื่อผู้สอนนำหลักสูตรไปใช้แล้ว เราจะเรียกผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนจริงๆ ว่า “Learned Curriculum” ซึ่งจะสอดคล้องกับ “Implemented Curriculum” หรือไม่ก็ได้ และจะสอดคล้องกับ “Intended Curriculum” หรือไม่ก็ได้ แต่ “Learned Curriculum” เป็นสิ่งที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการใช้หลักสูตรนั้น งานวิจัยส่วนใหญ่มุ่งศึกษา “Learned Curriculum” ครับ

แต่การนำหลักสูตรไปใช้นั้นอาจทำให้เกิดผลบางอย่างขึ้น ซึ่งผู้พัฒนาหลักสูตร ผู้สอน หรือแม้กระทั่งผู้เรียนเอง อาจไม่ได้คาดการณ์เอาไว้ และอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เราเรียกผลของการใช้หลักสูตรที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจว่า “Unintended Curriculum” ครับ บางคนก็อาจเรียกว่า “Hidden Curriculum” ซึ่งอาจเป็นผลในเชิงบวกหรือผลในเชิงลบก็ได้ครับ

ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ เกี่ยวกับ “Unintended Curriculum” นะครับ การที่เราให้นักเรียนทำข้อสอบแบบเลือกตอบเป็นประจำ โดยทุกๆ ครั้งคำตอบที่ถูกมีเพียงตัวเลือกเดียว อาจทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้(โดยไม่ได้ตั้งใจ)ว่า ทุกๆ คำถามมีเพียง 1 คำตอบ ทั้งๆ ที่บางสถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

งานวิจัยข้างต้นมุ่งศึกษา “Unintended Curriculum” ครับว่า นักเรียนเกิดการเรียนรู้อะไรบ้างที่ไม่เป็นไปตามเจตนาของหลักสูตรวิชาเคมี การวิจัยนี้เปิดเผย “Unintended Curriculum” ของนักเรียนคนหนึ่งครับ ซึ่งมีชื่อ(สมมติ)ว่า “ฟาติมา” ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเรียก “Unintended Curriculum” นี้ว่า “กฎของฟาติมา” ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ครับ

ฟาติมาเรียนรู้ว่า การที่จะประสบความสำเร็จในการเรียนวิทยาศาสตร์ได้นั้น

  1. เธอไม่ต้องอ่านหนังสือก็ได้ครับ
  2. เธอไม่ต้องให้ความสนใจกับข้อมูลต่างๆ ในหนังสือ ที่ไม่อยู่ในบทสรุปหรือคำถามตอนท้ายของบทเรียน
  3. แต่เธอต้องสนใจแผนภาพ ตาราง และอักษรที่ถูกเน้นด้วยตัวหนา
  4. เธอและสมาชิกในกลุ่มไม่ควรแบ่งกันตอบคำถามในใบงาน เพราะลำดับความคิดของคำถามเหล่านั้นจะต่อเนื่องกันไป

นอกจากนี้ ฟาติมายังเรียนรู้ด้วยว่า การที่จะผ่านการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ได้นั้น เธอต้องเตรียมตัว ดังนี้

  1. เธอไม่ต้องอ่านหนังสือทั้งเล่มก็ได้
  2. เธอต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้
    • ทำโจทย์โดยการสนใจที่อักษรที่ถูกเน้นด้วยตัวหนา
    • อภิปรายโจทย์คำถาม
    • ลองทำข้อสอบ
  3. เธอควรเตรียมตัวก่อนสอบล่วงหน้าแค่ 2 – 3 วัน เพราะเธอจะได้ไม่เครียดเกินไปในวันสอบ

สาระสำคัญคือว่า ฟาติมาไม่ได้เรียนรู้แนวคิด ทักษะ และเจตคติต่างๆ ในทางวิทยาศาสตร์ครับ เธอเรียนรู้แค่ว่า เธอควรหรือต้องทำยังไงให้ตัวเองผ่านและได้คะแนนดีที่สุด โดยใช้ความพยายามน้อยที่สุดเท่านั้น ในมุมมองของผู้วิจัย “Unintended Curriculum” แบบนี้เป็นสิ่งที่อันตรายมากครับ เพราะมันไม่ได้ช่วยให้นักเรียนเป็นผู้รู้วิทยาศาสตร์จริงๆ

Comments

comments