การวิเคราะห์ข้อมูลของคนเรา (อุปนัย และ/หรือ นิรนัย)

ในช่วงการอบรมที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ 2 แบบ นั่นคือ วิธีการแบบนิรนัย (Deductive method) และ วิธีการแบบอุปนัย (Inductive method)

โดยวิธีการแบบนิรนัยนั้น เราจะมีการตั้งเกณฑ์หรือกลุ่มขึ้นมาเป็นสมมติฐานก่อน แล้วค่อยพิจารณาว่า ข้อมูลที่มีอยู่นั้นเข้ากับเกณฑ์หรือกลุ่มที่เป็นสมมติฐานนั้นหรือไม่ และเพียงใด

ส่วนวิธีการแบบอุปนัยนั้น เราจะค่อยพิจารณาข้อมูลทั้งหมด เพื่อมองหาความเหมือนหรือลักษณะร่วมบางอย่างของข้อมูลเหล่านั้น แล้วเอาลักษณะร่วมนั้นมาสร้างเป็นเกณฑ์หรือกลุ่มขึ้นมา

มีงานวิจัยอยู่เรื่องหนึ่ง (Lawson, 2005) ซึ่งน่าสนใจมากๆ ผมจึงขอนำมาเล่าต่อ ณ ที่นี้

งานวิจัยที่ว่านี้เป็นการศึกษาเพื่อตอบคำถามว่า โดยปกติแล้ว การให้เหตุผล(และการวิเคราะห์ข้อมูล)ของคนเราเป็นแบบใด (นิรนัย หรือ อุปนัย) กล่าวคือ หากมีข้อมูล(เชิงคุณภาพ)มาให้ชุดหนึ่ง คนเราจะวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นด้วยวิธีการใดเป็นหลัก

ในตอนแรกของการดำเนินการวิจัยนี้ ผู้วิจัยออกแบบกิจกรรมขึ้นมา 2 แบบ ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง ซึ่งเขาให้ชื่อว่า “Mellinark”  แต่ละกิจกรรมเป็นดังนี้

กิจกรรมที่ 1 ผู้วิจัยให้ภาพมา 5 ภาพ (ซึ่งเหมือนกันทุกประการ) และเขาบอกกับผู้ทำกิจกรรมว่า ภาพเหล่านี้เป็นภาพของ Mellinark จากนั้น ผู้วิจัยให้ภาพอีก 6 ภาพ และถามผู้ทำกิจกรรมว่า ภาพใดบ้างที่เป็นภาพของ Mellinark

กิจกรรมที่ 2 ผู้วิจัยให้ภาพมาเพียง 1  ภาพ (ซึ่งเหมือนกับภาพ Mellinark ในกิจกรรมที่ 1 ทุกประการ) และเขาบอกกับผู้ทำกิจกรรมว่า ภาพนี้เป็นภาพของ Mellinark จากนั้น ผู้วิจัยให้ภาพอีก 6 ภาพ และถามผู้ทำกิจกรรมว่า ภาพใดบ้างที่เป็นภาพของ Mellinark

ความแตกต่างระหว่างกิจกรรมที่ 1 และกิจกรรมที่ 2 คือว่า ผู้ทำกิจกรรมที่ 1 จะเห็นภาพของ Mellinark จำนวน 5 ภาพ ในขณะที่ผู้ทำกิจกรรมที่ 2 จะเห็นภาพของ Mellinark เพียงภาพเดียวเท่านั้น

ความแตกต่างระหว่างกิจกรรมที่ 1 และกิจกรรมที่ 2 จะช่วยให้ผู้วิจัยทราบได้ว่า ผู้ทำกิจกรรมวิเคราะห์ข้อมูลแบบอุปนัยหรือไม่ ในกิจกรรมที่ 1 ผู้ทำกิจกรรมสามารถใช้การวิเคราะห์แบบอุปนัยได้ เพราะมีภาพ Mellinark จำนวน 5 ภาพ ให้ผู้ทำกิจกรรมพิจารณาลักษณะร่วม แต่ในกิจกรรมที่ 2 ผู้ทำกิจกรรมไม่สามารถใช้การวิเคราะห์แบบอุปนัยได้ เพราะไม่มีทางที่ผู้ทำกิจกรรมจะเห็นลักษณะร่วมของ Mellinark ได้เลยจากการเห็นเพียงภาพเดียว

จากนั้น ผู้วิจัยก็แบ่งผู้ทำกิจกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกทำกิจกรรมที่ 1 ส่วนกลุ่มที่ 2 ทำกิจกรรมที่ 2 (ผู้ทำกิจกรรม 1 คน ได้ทำเพียงกิจกรรมเดียวเท่านั้น) โดยผู้วิจัยต้องการเปรียบเทียบว่า ในภาพรวมแล้ว คำตอบของผู้ทำกิจกรรมทั้ง 2 กิจกรรมแตกต่างกันหรือไม่ ถ้าแตกต่างกันก็หมายความว่า วิธีการแบบอุปนัยมีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ทำกิจกรรม แต่ถ้าไม่แตกต่างกันก็หมายความว่า วิธีการแบบอุปนัยไม่มีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ทำกิจกรรม

ผลการวิจัยปรากฎว่า คำตอบของผู้ทำกิจกรรมทั้ง 2 กิจกรรม ไม่แตกต่างกันมากนัก นั่นหมายความว่า คนเราไม่ได้ใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอุปนัยเป็นหลัก พวกเขาอาจใช้วิธีการอื่น นั่นคือ วิธีการแบบนิรนัย

เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้นว่า คนเราวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการแบบนิรนัยเป็นหลักหรือไม่ ผู้วิจัยก็คิดกิจกรรมที่ 3 ขึ้นมา คราวนี้ เขาให้ผู้ทำกิจกรรมเห็นภาพ Mellinark จำนวน 5 ภาพ (ซึ่งแต่ละภาพไม่เหมือนกันซะทีเดียว) และในขณะเดียวกัน เขาก็ให้ผู้ทำกิจกรรมเห็นภาพที่ไม่ใช่ Mellinark จำนวน 5 ภาพด้วย (ซึ่งแต่ละภาพก็แตกต่างกัน) จากนั้น ผู้วิจัยก็ให้ภาพอีก 6 ภาพ และถามผู้ทำกิจกรรมว่า ภาพใดบ้างที่เป็นภาพของ Mellinark

ในการนี้ ผู้วิจัยก็ถามเหตุผลของคำตอบของผู้ทำกิจกรรมแต่ละคนด้วยว่า ทำไมจึงคิดว่าภาพนี้เป็น Mellinark และ ทำไมจึงคิดว่าภาพนี้ไม่เป็น Mellinark

จากการสัมภาษณ์ ผู้วิจัยพบว่า เมื่อผู้ทำกิจกรรมเห็นภาพทั้งที่เป็นและไม่เป็น Mellinark ผู้ทำกิจกรรมจะมีการตั้งเกณฑ์สมมติฐานขึ้นมาในใจ แล้วค่อยๆ ทดสอบเกณฑ์สมมติฐานของตัวเองว่า Mellinark ควรมีลักษณะใดบ้าง นั่นหมายความว่า โดยแท้จริงแล้ว ผู้ทำกิจกรรมใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบนิรนัยเป็นหลัก

สำหรับผมแล้ว ผลการวิจัยเรื่องนี้น่าสนใจนะครับ เพราะมันเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนได้

อย่างที่ได้พูดไปแล้วในช่วงการอบรมว่า การนำเสนอสิ่งที่ใช่ (เช่น แนวคิดทางวิทยาศาสตร์) เพียงอย่างเดียวนั้น อาจไม่เพียงพอให้นักเรียนเข้าใจแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ แต่เราต้องนำเสนอสิ่งที่ไม่ใช่ด้วย เพื่อให้นักเรียนเห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ใช่และสิ่งที่ไม่ใช่ (แบบไหนใช่ และ แบบไหนไม่ใช่) การเปรียบเทียบนี้จะช่วยให้นักเรียนสร้างความรู้ขึ้นมาด้วยตัวเองว่า แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ต้องมีัลักษณะแบบนี้ๆ ถ้าเป็นแบบอื่นๆ ก็ไม่ใช่แนวคิดทางวิทยาศาสตร์

ดังนั้น การนำเสนอทั้งแนวคิดที่ถูกต้อง ร่วมกับการนำเสนอแนวคิดที่คลาดเคลื่อนหลายๆ แบบ แล้วค่อยๆ อภิปรายใ่ห้นักเรียนเปรียบเทียบและเห็นความแตกต่าง อาจช่วยให้นักเรียนเข้าใจแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น เราเรียกการเรียนรู้แบบนี้ว่า “การเรียนรู้จากการผันแปร” ครับ

ในช่วงการอภิปรายผลของการวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้อ้างถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของสมองมนุษย์ เพื่อสนับสนุนว่า โดยแท้จริงแล้ว คนเราจะวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการแบบนิรนัยเป็นหลัก

ใครสนใจก็อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้นะครับ (ดาวน์โหลดงานวิจัยนี้) และหากพบประเด็นที่น่าสนใจแล้วมาเล่ากันฟัง ก็คงเป็นประโยชน์ไม่น้่อยครับ

Comments

comments

2 thoughts on “การวิเคราะห์ข้อมูลของคนเรา (อุปนัย และ/หรือ นิรนัย)”

Comments are closed.