Situated Learning

ผมขอนำเสนอหนังสือดีๆ สักเล่มนะครับ หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “Situated Learning: Legitimate Peripheral Participation” สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ก็คือการนำเสนอ “ทฤษฎีการเรียนรู้” แต่ไม่ใช่ “ทฤษฎีการเรียนรู้แบบการสร้างความรู้” (Constructivist theory of learning) ที่หลายคนรู้จักนะครับ (และก็ไม่ใช่ทฤษฎีการเรียนรู้จากการเสริมแรง หรืออะไรทำนองนั้นด้วย) หนังสือเล่มนี้นำเสนอทฤษฎีการเรียนรู้ที่เน้นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมครับ (Sociocultural theory of learning)

การนำเสนอเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้น่าสนใจครับ ผู้เขียนใช้กรณีศึกษาจากการสังเกตและมีส่วนร่วมกับคนในอาชีพต่างๆ เช่น หมอตำแย (Midwives) ช่างตัดเสื้อ (Tailors) นักเดินเรือ (Quartermasters) และ คนชำแหละเนื้อสัตว์ (Butchers) [และ Non-drinking alcoholic ด้วย แต่ผมแปลไม่ออกครับ] ผู้เขียนศึกษาว่า คนเหล่านี้มีการเรียนรู้ในการปฏิบัติงานในอาชีพเหล่านี้ยังไงบ้าง กล่าวคือ มืออาชีพ “สอน” มือใหม่อย่างไร จนกระทั่งมือใหม่สามารถประกอบอาชีพนั้นได้ด้วยตัวเอง หากเราสังเกตให้ดี เราจะเห็นว่า อาชีพที่ผู้เขียนเลือกเป็นกรณีศึกษานั้นเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์สูง ซึ่งยากต่อการสอนโดยการบอกตรงๆ ผู้เขียนเชื่อว่า กรณีศึกษาจากคนในอาชีพเหล่านี้จึงช่วยให้เราเข้าใจการเรียนรู้ในมิติที่แตกต่างไปจากเดิม (นั่นคือ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ไม่ใช่การเรียนรู้จากการฟังผู้อื่น)

จากการสังเกตและมีส่วนร่วมกับคนในอาชีพต่างๆ ข้างต้น ผู้เขียนเห็นลักษณะร่วมบางอย่างเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ ที่ซึ่งพวกเขาตั้งชื่อว่า “Legitimate Peripheral Participation” ซึ่งผมเองก็ไม่รู้จะแปลเป็นภาษาไทยว่าอะไรดี ณ ตอนนี้ ผมขอเรียกว่า “การมีส่วนร่วมจากรอบนอกอย่างชอบธรรม” มันอาจดูตลกอยู่บ้างนะครับ (ไม่มากก็น้อย)  แต่ Participation แปลว่า “การมีส่วนร่วม” Peripheral แปลว่า “รอบนอก” ในขณะที่ Legitimate แปลว่า “ตามทำนองคลองธรรม” [มันยาวเกินไป ผมจึงใช้คำว่า “อย่างชอบธรรม” แทน] มันจะเป็นชื่อเป็นภาษาไทยอะไรก็ช่าง แต่สาระสำคัญมีดังนี้ครับ

ในการสอนมือใหม่นั้น มืออาชีพจะเริ่มต้นจากการให้มือใหม่ “สังเกต” การปฏิบัติงานนั้นก่อน ตัวอย่างเช่น หมอตำแยจะพามือใหม่ (ซึ่งมักเป็นบุตรหลานของตนเอง) ไปด้วยทุกครั้งที่มีการทำคลอด เมื่อมือใหม่คุ้นเคยกับการปฏิบัติงานนั้นแล้ว มืออาชีพจะค่อยๆ ให้มือใหม่ “ช่วยงาน” แต่งานที่ว่านี้เป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่มีความซับซ้อนมาก เช่น การต้มน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรค จากนั้น มืออาชีพจะค่อยให้มือใหม่ “ฝึกงาน” อย่างอื่นๆ ที่แตกต่างไปและมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การคลำหรือนวดท้องก่อนการคลอด ในการนี้ มือใหม่จะค่อยๆ เรียนรู้การปฏิบัติงานในมิติต่างๆ จนครบทุกด้าน เมื่อมือใหม่เรียนรู้ทุกมิติของการปฏิบัติงานนั้นแล้ว มืออาชีพจะให้มือใหม่ “ลองทำ” คลอดด้วยตัวเอง แต่การลองทำนี้จะอยู่ภายใต้การดูและและคำแนะนำของมืออาชีพ จนกระทั่งในท้ายที่สุดแล้ว มือใหม่สามารถ “ปฏิับัติงาน” ได้ด้วยตัวเอง แม้ไม่มีมืออาชีพคอยดูแล

เราจะเห็นได้ว่า มือใหม่เริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้วย “การมีส่วนร่วม” ในการปฏิบัติงานนั้น ซึ่งการมีส่วนร่วมนี้จะเริ่มจาก “รอบนอก” ก่อน กล่าวคือ มันเป็นการเริ่มต้นปฏิบัติงานในส่วนที่ง่ายก่อน แล้วค่อยๆ พัฒนาไปทำในส่วนที่ยากและหลากหลายมากขึ้น จนกระทั่งมือใหม่ได้ปฏิบัติงานครบทุกส่วน ทั้งหมดนี้เป็นไปโดยความยินยอมหรือการเปิดรับของมืออาชีพ (นั่นคือ “อย่างชอบธรรม“) [มืออาชีพมีสิทธิ์ไม่สอนหรือปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของมือใหม่ได้ทุกเมื่อและทุกกรณี] และนั่นก็เป็นที่มาของคำว่า “Legitimate Peripheral Participation” หรือ “การมีส่วนร่วมจากรอบนอกอย่างชอบธรรม” นั่นเอง  การเรียนรู้ในลักษณะนี้เกิดขึ้นภายในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของการปฏิบัติงานนั้นๆ

มือใหม่ในอาชีพอื่นๆ ก็เรียนรู้ในลักษณะเดียวกันนี้ครับ ตัวอย่างเช่น พลทหารเดินเรือเริ่มต้นจากการลงไปนั่งเรือและสังเกตการเคลื่อนตัวของเรือก่อน จนกระทั่งพวกเขาเริ่มชินและไม่เมาเรือ จากนั้น พวกเขาก็ได้โอกาสได้สังเกตภูเขาหรือเกาะที่อยู่โดยรอบเรือ ตลอดจนการฝึกอ่านแผนที่และเข็มทิศ โดยเทียบเคียงกับการสังเกตสิ่งต่างๆ รอบเรือ จากนั้น พวกเขาก็เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ในการขับเคลื่อนเรือ และการตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ ของเรือ จากนั้น พวกเขาจึงเริ่มได้โอกาสลองขับเคลื่อนเรือ และเอาเรือเข้าเทียบท่า เมื่อพวกเขาทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว พวกเขาจึงได้โอกาสนำเรือออกจากฝั่งจริงๆ ภายใต้การดูแลของมืออาชีพ และในท้ายที่สุด พวกเขาก็สามารถขับเรือได้ด้วยตัวเอง เป็นต้น [หนังสือมีรายละเอียดมากกว่านี้ครับ ผมไม่เคยขับเรือ ผมก็เลยจำรายละเอียดได้ไม่หมด]

เนื่องจากการปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อน นักวิทยาศาสตร์ศึกษาหลายคนจึงมองว่า ทฤษฎีการเรียนรู้นี้จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนสามารถปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ได้ และพร้อมสำหรับการเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต ในการนี้ พวกเขาก็ต้องมีการกำหนดว่า การปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์มีมิติที่สำคัญๆ อะไรบ้าง เช่น การสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ การให้เหตุผล/โต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ การสร้างแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ และอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์แต่ละมิติ นอกจากนี้ ยังมีการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พบปะพูดคุย ร่วมทั้งได้ร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์จริงๆ อีกด้วย อาจารย์ที่สนใจลองอ่านบทความที่มีชื่อว่า “Realising Authentic Science Learning through the Adaptation of Scientific Practice” เพิ่มเติมได้ครับ

อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตามทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Situated Learning ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทยครับ