การสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ หรือ การปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์

เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนมาใช้หลักสูตรวิทยาศาสตร์ใหม่ ซึ่งเขาใช้ชื่อว่า “Next Generation Science Standards” [หลักสูตรวิทยาศาสตร์ใหม่นี้มีด้วยกัน 2 เล่มนะครับ] การเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างจึงกำลังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการมาของหลักสูตรวิทยาศาสตร์ใหม่นี้

การเปลี่ยนแปลงหนึ่งคล้ายจะเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์เดิมเน้นให้ครูจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์โดย “การสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์” (scientific inquiry) แต่หลักสูตรวิทยาศาสตร์ใหม่ไม่ได้กล่าวถึง “การสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์” [อันนี้ผมอ้างอิงมาจากบทความเรื่อง “Inquiry กำลังจะหายไป?!?!” โดย ดร. นิพนธ์ จันเลน] หากแต่ใช้คำว่า “การปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์” (scientific practices) [อันที่จริง หลักสูตรวิทยาศาสตร์ใหม่กล่าวรวมถึง “การปฏิบัติงานทางวิศวกรรม” ด้วย แต่ผมเห็นว่า มันไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผมจะเขียน ผมจึงขอละไว้นะครับ] ซึ่งมีรายละเอียดเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ (เล่ม 2 หน้าที่ 48)

  1. การตั้งคำถาม (Asking questions)
  2. การพัฒนาและการใช้แบบจำลอง (Developing and using models)
  3. การวางแผนและการทำการสำรวจตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ (Planing and carrying out investigations)
  4. การวิเคราะห์และการตีความข้อมูล (Analyzing and interpreting data)
  5. การใช้คณิตศาสตร์และการคิดด้านการคำนวณ (Using mathematics and computational thinking)
  6. การสร้างคำอธิบาย (Constructing explanations)
  7. การมีส่วนร่วมในการโต้แย้งด้วยหลักฐาน (Engaging in argument from evidence)
  8. การสืบค้น การประเมิน และการสื่อสารสารสนเทศ (Obtaining, evaluating, and communicating information)

เขาให้เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงการใช้คำจาก “การสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์” เป็น “การปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์” ไว้ดังนี้ครับ (เล่ม 1 หน้าที่ xv)

[Scientific Practices] describes the major practices that scientists employ as they investigate and build models and theories about the world […] We use the term ‘practices’ instead of a term such as ‘skills’ to emphasizes that engaging in scientific investigation requires not only skill but also knowledge that is specific each practice. Similarly, because the term ‘inquiry,’ extensively referred to in previous standards documents, has been interpreted over time in many different ways throughout the science education community, part of our intent in articulating the practices … is to better specify what is meant by inquiry in science and the range of cognitive, social, and physical practices that it requires. As in all inquiry-based approaches to science teaching, our expectation is that students will themselves engage in the practices and not merely learn about them secondhand. Students cannot comprehend scientific practices, nor fully appreciate the nature of scientific knowledge itself, without directly experiencing those practices for themselves. ” [ตัวหนาถูกเน้นโดยผมเอง]

จากข้อความข้างต้น ผมสรุปได้ว่า ทั้งคำว่า “การสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์” (ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์เดิม) และคำว่า “การปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์” (ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ใหม่) อันที่จริงแล้วก็คือสิ่งเดียวกัน นั่นคือกระบวนการ(หรือวิธีการ)ต่างๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ดังที่ปรากฏในข้อความที่ผมเน้นด้านบนสุด) การเปลี่ยนแปลงคำนั้นเป็นไปเพื่อแก้หรือลดปัญหาการตีความคำว่า “การสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์” ที่หลากหลายและผิดเพี้ยนไป เขาจึงต้องการกล่าวอย่างเจาะจงไปเลยว่า การสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานอะไรบ้าง (ดังที่ปรากฏในข้อความที่ผมเน้นรองลงมา) กล่าวคือ เขาอยากให้นักเรียนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้วยการปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ “เฉกเช่นนักวิทยาศาสตร์จริงๆ” [อันนี้ผมยืมคำของ ผศ.ดร. จุฬารัตน์ ธรรมประทีป] ซึ่งก็หมายความว่า ครูต้องจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ “อย่างที่วิทยาศาสตร์เป็น” [อันนี้ผมยืมคำของ ผศ.ดร. พงษ์ประพันธ์ พงศ์โสภณ] (ดังที่ปรากฏในข้อความที่ผมเน้นด้านล่างสุด)

โดยส่วนตัว ผมคิดว่า แนวทางการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ยังไงเสียก็คงหนีไม่พ้น “การสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์” หรือ “การปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์” หรอกครับ ตราบเท่าที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงใช้กระบวนการหรือวิธีการนี้ในการศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์

หมายเหตุ: ผมขอระงับการเผยแพร่เอกสารเรื่อง “กิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์” ไว้ชั่วคราวก่อนนะครับ จนกว่าการอบรมทุกภูมิภาคจะเสร็จสิ้นลง ทั้งนี้เพราะผมอยากให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ “อย่างที่วิทยาศาสตร์เป็น” จริงๆ ผมขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ครับ