Situated Learning of Language

หากเราจะหาตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงศักยภาพในการอธิบายการเรียนรู้ของแนวคิดทางทฤษฎีที่มีชื่อว่า “Situated Learning” นั้น ผมคิดว่า การเรียนรู้ด้านภาษาน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด เราลองพิจารณาเพื่อตอบคำถามข้างล่างนี้กันดูนะครับ

เด็กเล็กๆ คนหนึ่งเรียนรู้เกี่ยวกับภาษา จนกระทั่งเขา/เธอสามารถสื่อสารผ่านการฟังและพูดได้อย่างไร ทั้งๆ ที่เขา/เธอคนนั้นยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ

คำตอบที่ดีที่สุดก็คือว่า เด็กคนนั้นได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการที่มีชื่อว่าการมีส่วนร่วมจากรอบนอกอย่างชอบธรรม (Legitimate Peripheral Participation) กล่าวคือ เมื่อเด็กคนนึงลืมตาดูโลก เด็กคนนั้นก็อยู่ในสถานการณ์จริงของการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันโดยอัตโนมัติ ซึ่งแม้ว่าเด็กคนนั้นยังไม่เข้าใจอะไรเกี่ยวกับภาษานั้นเลย แต่เขา/เธอก็จะคุ้นเคยกับภาษานั้นไปเรื่อยๆ ผ่านการฟังคนอื่นพูดคุยกัน (นั่นก็คือ เขา/เธอได้มีส่วนร่วมในการใช้ภาษานั้นอย่างชอบธรรม)

และเมื่อเด็กคนนั้นค่อยๆ โตขึ้น เขา/เธอก็ได้เรียนรู้ความหมายของบางคำและบางท่าทางในสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น เมื่อเด็กคนนี้ได้เรียนรู้ไปได้ในระดับหนึ่ง (พร้อมกับการเจริญเติบโตทางกายภาพ) เด็กคนนั้นก็จะสามารถสื่อสารบางอย่างได้ โดยเริ่มต้นจากการแสดงท่าทางง่ายๆ และการออกเสียงคำง่ายๆ และเมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้นไปอีก เขา/เธอก็ได้เรียนรู้จำนวนคำที่มากขึ้น ทั้งความหมาย การออกเสียง และการใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ตลอดจนการนำคำเหล่านั้นมาเรียงร้อยกันเป็นประโยค (นั่นคือ เขา/เธอเริ่มเรียนรู้จากการใช้ภาษาในระดับที่ซับซ้อนน้อยไปยังระดับที่ซับซ้อนมากขึ้น) ในที่สุด เด็กคนนั้นก็สามารถใช้ภาษานั้นเพื่อสื่อสารได้ในชีวิตประจำวัน

กระบวนการเรียนรู้นี้เกิดขึ้นเอง “ก่อน” ที่เด็กคนนั้นจะเข้าสู่ระบบการศึกษา มันเป็นการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการใน “สถานการณ์จริง” โดย “การฝึกปฏิบัติจริง” ภายใต้การแนะนำโดย “ผู้ที่เชี่ยวชาญภาษานั้นจริง”

อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ภาษาที่สองมักไม่เป็นไปตามกระบวนการนี้ครับ เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ เด็กๆ เริ่มต้นจากการเรียนรู้พยัญชนะ โครงสร้างประโยค และไวยากรณ์ของภาษาที่สอง แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสถานการณ์จริงของการใช้ภาษานั้น ดังนั้น เด็กๆ จึงแทบใช้ภาษาที่สองเพื่อการสื่อสารไม่ได้เลย ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้ภาษาที่สองขัดแย้งกับธรรมชาติของการเรียนรู้ด้านภาษาอย่างสิ้นเชิง มันไม่ใช่การเรียนรู้ใน “สถานการณ์จริง” โดย “การฝึกปฏิบัติจริง” ภายใต้การแนะนำโดย “ผู้ที่เชี่ยวชาญภาษานั้นจริง”

ผมขออ้างอิงสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบันได้กล่าวไว้ใน “การประชุมเสวนากลยุทธ์การเร่งรัดคุณภาพผู้เรียนสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยตามนโยบาย” เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งผมตีความสิ่งที่ท่านพูดไว้ ดังนี้ครับ

การเรียนรู้ภาษาที่สองในอดีตที่ผ่านมา(และในปัจจุบัน)ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของการเรียนรู้ด้านภาษา เพราะการเรียนรู้ภาษาที่สองที่ผ่านมามักเริ่มต้นจากการเรียนรู้หลักการของภาษานั้น แล้วค่อยให้นักเรียนนำหลักการนั้นไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ การเรียนรู้ตามแนวทางนี้เป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่สามารถใช้ภาษานั้นในการสื่อสารได้แล้ว (เช่น การที่นักเรียนชาวอังกฤษเรียนหลักการของภาษาอังกฤษ หรือ การที่นักเรียนจีนเรียนหลักการของภาษาจีน) ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนเหล่านั้นสามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมมากขึ้น

แต่เราคนไทยรับแนวทางการเรียนรู้ภาษาแบบนี้มาจากประเทศอื่น โดยที่เราลืมคิดไปว่า เด็กๆ ของเรายังฟังและพูดภาษาที่สองนั้นไม่ได้เลย (เพราะภาษาเหล่านั้นไม่ใช่ภาษาแม่) แต่เด็กๆ ของเราต้องมาเรียนรู้หลักการใช้ภาษาที่สองนั้น และถูกคาดหวังให้ใช้ภาษาที่สองนั้นให้ถูกต้องและเหมาะสมอย่างเคร่งครัด มันเป็นการเริ่มต้นที่ยากเกินไป เด็กๆ ของเราจึงแทบใช้ภาษาที่สองเพื่อการสื่อสารไม่ได้เลย และยิ่งซ้ำร้ายไปกว่านั้น หากเด็กคนไหนเข้าใจหลักการของภาษาที่สองได้ดีมากเท่าไหร่ เด็กคนนั้นก็ยิ่งไม่กล้าใช้ภาษานั้นเพื่อการสื่อสาร ทั้งนี้เพราะว่า เขา/เธอกลัวใช้ภาษานั้นผิดไปจากหลักการที่เขา/เธอได้เรียนรู้และถูกเน้นย้ำมาโดยตลอด

ผมเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า การเรียนรู้ภาษาใดๆ ก็ตามควรเริ่มต้นจากการเรียนรู้ตามแนวทางของ “Situated Learning” ครับ