เราควรให้นักเรียนทำการทดลองไปเพื่ออะไร?

ในขณะที่งานวิจัยในประเทศไทยมีรูปแบบการนำเสนอที่ค่อนข้างเคร่งครัด ผมมีบทความวิจัยในต่างประเทศเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีรูปแบบการนำเสนอที่ค่อนข้างแปลกมาเล่าสู่กันฟังครับ บทความวิจัยนี้มีชื่อว่า “What is the Purpose of this Experiment? Or Can Students Learn Something from Doing Experiments?“แค่ชื่อก็แปลกแล้วใช่ไหมครับ เพราะมันประกอบด้วยประโยคคำถามถึง 2 ประโยคด้วยกัน

การนำเสนอเนื้อหาข้างในบทความนี้ก็แปลกครับ มันเป็นการนำเสนอความคิดสลับกันไปมาระหว่างครูผู้สอนในโรงเรียน (ซึ่งอยู่ในรูปแบบของตัวอักษรเอียง) และผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัย (ซึ่งอยู่ในรูปแบบตัวอักษรปกติ) คำถามแรกในชื่อเรื่อง (What is the purpose of this experiment?) เป็นสิ่งสะท้อนความสนใจของครูผู้สอนคนนี้ ในขณะที่คำถามหลังในชื่อเรื่อง (Can Students Learn Something from Doing Experiments?) เป็นสิ่งที่สะท้อนความสนใจของผู้วิจัย

ครูผู้สอนคนนี้เกิดคำถามกับตัวเองว่า เป้าหมายของการให้นักเรียนทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ควรเป็นอะไรกันแน่ มันควรเป็นการเรียนรู้เนื้อหาวิทยาศาสตร์ หรือเป็นการเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือทั้งคู่ ในขณะที่ผู้วิจัยมีความสนใจศึกษาว่า การให้นักเรียนทำการทดลองวิทยาศาสตร์จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอะไรบ้าง

จากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยพบว่า แม้การทดลองเป็นการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่หลายฝ่ายยอมรับว่า มันมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งเนื้อหาวิทยาศาสตร์และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่งานวิจัยจำนวนหนึ่งกลับสะท้อนว่า การทดลองอาจไม่ได้มีประสิทธิภาพเสมอไปอย่างที่หลายฝ่ายเชื่อกัน ครูอาจใช้การทดลองทางวิทยาศาสตร์เพียงเพื่อยืนยันหรือนำเสนอเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ในขณะที่นักเรียนอาจมุ่งเพียงแค่ทำการทดลองให้เสร็จๆ ไป โดยปราศจากการเรียนรู้อย่างที่ครูผู้สอนคาดหวังไว้ก็ได้

เมื่อผู้วิจัยได้มาเจอกับครูคนนี้ ซึ่งมีความคิดแตกต่างไปจากครูทั่วไปที่ผู้วิจัยเคยพบมา กล่าวคือ ในขณะที่ครูทั่วไปมักใช้การทดลองเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ “เนื้อหาวิทยาศาสตร์” แต่ครูคนนี้กลับใช้การทดลองเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับ “ธรรมชาติของการทดลองทางวิทยาศาสตร์” ครูคนนี้ใช้การทดลองเพื่อนำเสนอกับนักเรียนว่า ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ (นั่นคือผลการทดลอง) ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร และเหตุใดมันจึงมีความน่าเชื่อถือ ดังนั้น สำหรับครูท่านนี้ เนื้อหาวิทยาศาสตร์จึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของการให้นักเรียนทำการทดลอง ด้วยความคิดที่แตกต่างจากครูทั่วไป ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาการจัดการเรียนการสอนด้วยการทดลองของครูคนนี้ และนำเสนอความคิดของครูคนนี้สู่สาธารณะ ร่วมกับการแสดงความคิดของผู้วิจัยเองเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนของครูคนนี้

นี่เป็นที่มาของการนำเสนอเนื้อหาแบบสลับไปมาระหว่างความคิดของครูและความคิดของผู้วิจัยในบทความเรื่องนี้ครับ

ผลการวิจัยโดยสรุปปรากฏว่า ในช่วงแรกๆ นักเรียนไม่เข้าใจเจตนาของครูครับ นักเรียนไม่รู้ว่า ครูต้องการให้พวกเขาเรียนรู้อะไร นักเรียนส่วนใหญ่คาดหวังให้ครูสอนเนื้อหาวิทยาศาสตร์ แต่พอมาเจอครูคนนี้ในช่วงแรก นักเรียนก็ไม่ทราบว่า ครูต้องการจะสอนอะไร แต่ด้วยความพยายามของครูคนนี้อย่างต่อเนื่อง นักเรียนก็ค่อยๆ เข้าใจเจตนาของครู และทำให้พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับ “ธรรมชาติของการทดลองทางวิทยาศาสตร์” ได้อย่างมีความหมายมากขึ้น ผู้วิจัยเขียนสรุปไว้ ดังนี้ครับ (หน้าที่ 671-672)

[W]hile teachers often emphasize the scientific aim of a laboratory task, it is equally important that students are aware of its purpose if worthwhile learning is to be achieved.  … It is clear to us that teachers need to make the pedagogical purpose of laboratory work explicit for students.

ในขณะที่ครู(ทั่วไป)มักเน้นการสอนผลลัพธ์ของการทดลอง (ซึ่งก็คือเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์) มันสำคัญพอกันที่นักเรียนจะได้ทราบถึงเป้าหมายของการทดลอง (ซึ่งก็คือธรรมชาติของการทดลองทางวิทยาศาสตร์) หากการเรียนรู้ที่มีความหมายจะสำเร็จขึ้นได้ มันชัดเจนต่อเราว่า ครูต้องให้นักเรียนทราบเป้าหมายของการทดลองด้วย

While research has generally shown that laboratory work is not always a useful strategy foe teaching science knowledge, this investigation has shown that it can be successfully used for other purposes. In this case it was used to help students to think about one aspect of science …

ในขณะที่งานวิจัยทั่วไปแสดงว่า การทดลองไม่ใช่กลวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสอนเนื้อหาวิทยาศาสตร์เสมอไป การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า มันสามารถถูกใช้เพื่อเป้าหมายอื่นได้ ในกรณีนี้ มันถูกใช้เพื่อช่วยให้นักเรียนคิดเกี่ยวกับลักษณะหนึ่งของวิทยาศาสตร์ (ซึ่งคือธรรมชาติของการทดลองทางวิทยาศาสตร์) …

Perhaps here lies a clue to the failure of laboratory work in term of student learning: by claiming too much for laboratory work …

บางทีการศึกษานี้บอกใบ้ว่า การใช้การทดลองล้มเหลวในการส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ทั้งนี้เพราะเราคิด(ไปเอง)ว่า เราสามารถใช้การทดลองเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนได้หลายด้านมากเกินไป

เราคงไม่มียาที่มีสรรพคุณในการรักษาได้สารพัดโรคครับ ดังนั้น เราต้องรู้ว่า ยาไหนสามารถรักษาโรคอะไร การทดลองก็ไม่ต่างกันครับ มันคงไม่สามารถส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ทุกด้าน หากเราเองต้องมีเป้าหมายล่วงหน้าว่า เราจะใช้การทดลองไหนเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อะไร [บทความนำเสนอแปลกๆ ผลก็ต้องขอจบแบบแปลกๆ เช่นกันครับ]