มิจฉาชีพทางวิชาการ

ผมขอแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเผยแพร่ผลงานวิจัยหน่อยนะครับ ซึ่งอาจารย์สามารถอ่านรายละเอียดแบบเต็มๆ ได้จากบทความเรื่อง “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวารสารที่ใช้ตีพิมพ์ผลงานอยู่ใน Beall’s list” ข้อมูลนี้มีอยู่ว่า ณ ปัจจุบันนี้ เหล่ามิจฉาชีพได้เข้ามาหาประโยชน์ในกิจกรรมทางวิชาการมากขึ้น ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบของ “การจัดทำวารสารวิชาการ” และ/หรือ “การจัดการประชุมวิชาการ”

โดยปกติแล้ว วารสารวิชาการหรือการประชุมวิชาการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักวิจัยได้เผยแพร่ผลงานวิจัยของตนเอง รวมทั้งการได้รับข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาผลงานของตนเองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ผมพูดง่ายๆ ก็คือ กิจกรรมเหล่านี้มีไว้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มนักวิจัย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งองค์ความรู้และบุคลากรในศาสตร์สาขาต่างๆ

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางวิชาการเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ผู้จัดไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น ค่าสถานที่ ค่าเอกสาร ค่าตอบแทนผู้ตรวจผลงาน และอื่นๆ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจมาจากผู้เข้าร่วม และ/หรือ หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการนั้นๆ

แต่ในบางกรณี มิจฉาชีพได้มีการจัดกิจกรรมทางวิชาการแบบปลอมๆ ที่ผมพูดว่า “แบบปลอมๆ” เพราะว่า กิจกรรมนี้ไม่เน้นความก้าวหน้าทางวิชาการครับ แต่เน้นการสร้างรายได้ให้กับผู้จัด ทั้งโดยค่าลงทะเบียนและค่าตรวจผลงานทางวิชาการในราคาที่สูงมาก ทั้งๆ ที่กระบวนการพิจารณาผลงานทางวิชาการไม่ได้เข้มข้มอย่างที่มันควรจะเป็น [ผมได้ข่าวจากเพื่อนๆ ว่า บางแห่งใช้เวลาตรวจผลงานวิจัยเพียงแค่ไม่กี่วันหรือไม่กี่ชั่วโมงด้วยซ้ำ] สโแกนของมิจฉาชีพเหล่านี้คือว่า “จ่ายครบ ได้เผยแพร่แน่นอน”

ผู้ที่เป็นเหยื่อของกิจกรรมทางวิชาการแบบปลอมๆ นี้ไม่ใช่ไม่รู้ตัวนะครับ แต่มันเป็นไปด้วยความเต็มใจ เพราะมันเข้าข่าย “win-win” กันทั้ง 2 ฝ่าย กล่าวคือ ผู้จัดได้เงิน ส่วนผู้เข้าร่วมได้ผลงานทางวิชาการ เพื่อใช้ในการจบการศึกษา การเลื่อนตำแหน่ง การขอทุนเพิ่มเติม การได้ชื่อเสียง การได้รางวัล และการได้ไปเที่ยวต่างประเทศ (เฉพาะในกรณีที่เป็นการประชุมทางวิชาการ) ทั้งๆ ที่ผลงานนั้นแทบไม่ได้ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการใดๆ เลย ในทางตรงข้าม กิจกรรมทางวิชาการแบบปลอมๆ นี้ก่อให้เกิดผลเสียทางวิชาการด้วยซ้ำ

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง ผมก็เคยได้รับจดหมายเชิญให้เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารทางวิชาการแบบปลอมๆ บ่อยเหมือนกัน ซึ่งเขา(หรือเธอ)คงได้อีเมลล์ของผมตามที่ปรากฏในบทความวิจัยที่ผมเคยเผยแพร่ไปแล้ว ผมเคยหลงตอบรับไปครั้งหนึ่ง แล้วเขา(หรือเธอ)ก็เรียกเก็บค่าตรวจผลงานวิจัย ผมก็เลยไม่ตอบกลับไป ผมยึดหลักที่ว่า ผมจะไม่ยอมเสียค่าใช้จ่ายกับการเผยแพร่ผลงานวิจัยครับ เพราะผมได้ลงแรงลงความคิดไปกับการพัฒนาผลงานวิจัยนั้นแล้ว ผมจึงไม่ควรเสียค่าใช้จ่ายพวกนั้นอีก

ในสมัยนี้ หากเราต้องการเผยแพร่ผลงานวิจัยสักหนึ่งเรื่อง เราต้องใช้วิจารณญาณและจริยธรรมให้มากกว่าเดิมด้วยครับ