การใช้ Learning Progression เพื่อการพัฒนาวิชาชีพครู

ผมกำลังอยู่ในช่วงของการเตรียมงานสำหรับโครงการใหม่ ในปีงบประมาณ 2557 ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่อิง “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” (Learning Progression) ผมได้นำเสนอไปหลายครั้งแล้วนะครับว่า “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” เป็นคล้ายๆ “เส้นทางจำลอง” ที่แสดงถึงพัฒนาการทางแนวคิดของนักเรียนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เส้นทางจำลองนี้เป็นผลที่ได้มาจากการศึกษาแนวคิดของนักเรียนหลายคนในเรื่องนั้น แล้วนำแนวคิดแต่ละแบบมาจัดกลุ่มและเรียงลำดับตามความซับซ้อน โดยเริ่มต้นจากแนวคิดที่คลาดเคลื่อนมากๆ ไปยังแนวคิดที่คลาดเคลื่อนน้อยลง จนกระทั่งแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ภาพข้างล่างน่าจะสื่อความหมายได้ดีในระดับหนึ่งครับ

LearningProgressionIdea

เนื่องจาก “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” จะบรรยายว่า แนวคิดในแต่ละระดับเป็นอย่างไร และสัมพันธ์กับแนวคิดในระดับที่สูงถัดขึ้นไปอย่างไร ดังนั้น เราจึงสามารถใช้ “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” เป็นกรอบในการวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ ในการนี้ เราก็ต้องมีการสร้าง “แบบวัดแนวคิด” เพื่อบ่งชี้ว่า นักเรียนแต่ละคนมีแนวคิดในระดับใด หรือ นักเรียนแต่ละคนอยู่ ณ ตำแหน่งใดบน “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” จากนั้น เมื่อเราทราบแนวคิดของนักเรียนแต่ละคน ณ ตอนเริ่มต้นแล้ว เราก็สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะช่วยให้นักเีรียนแต่ละคนมีพัฒนาการ หรือ “ก้าวขึ้น” ไปยังตำแหน่งที่สูงขึ้นไปได้

ความท้าทายและสิ่งที่ต้องทำในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่อิง “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” ก็คือ 1. คำถามที่สามารถวัดและบ่งชี้แนวคิดของนักเรียนได้ และ 2. กิจกรรมการเรียนรู้ที่จะช่วยให้นักเรียนมีพัฒนาการในการเรียนรู้ในแต่ละระดับ ซึ่งแน่นอนว่า ผมต้องมีทีมงานจำนวนหนึ่งในการพัฒนาทั้งสองอย่างนี้ ดังนั้น ก่อนที่จะมีการพัฒนาครูจำนวนมาก สิ่งที่จำเป็นก็คือการพัฒนาทีมงานกลุ่มหนึ่งให้เข็มแข็งก่อน ในบทความเรื่อง “A Learning Progression Approach to Teacher Professional Development in Astronomy” ผู้เขียนได้ให้แนวทางไว้ ดังนี้ครับ

เธอเริ่มต้นจากการสร้าง “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” ขึ้นมาก่อน ซึ่งในที่นี้เป็นเรื่อง “การเคลื่อนที่ของวัตถุต่างๆ บนท้องฟ้า” [ใครที่สนใจลองอ่านเพิ่มเติมได้ครับ] จากนั้น เธอนำเสนอกับทีมงานของเธอว่า ระดับต่างๆ ของ “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” นั้นประกอบด้วยระดับต่างๆ อะไรบ้าง การนำเสนอนี้จะช่วยให้ทีมงานของเธอเห็นภาพรวมว่า พัฒนาการทางแนวคิดของนักเรียนควรเป็นอย่างไร ในการนี้ เธอนำข้อมูล(เชิงคุณภาพ)ที่ได้จากการสัมภาษณ์มาให้ทีมงานพิจารณาและวิเคราะห์ร่วมกันว่า แนวคิดแต่ละแบบควรอยู่ในระดับใดของ “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” จากนั้น เธอและทีมงานของเธอก็อภิปรายกันว่า ถ้าแนวคิดของนักเรียนเป็นแบบนี้ นักเรียนควรได้รับการจัดการเรียนการสอนแบบใด ที่จะทำให้มีพัฒนาการทางแนวคิดในระดับที่สูงขึ้นได้

ในส่วนของโครงการฯ ผมคิดว่า ผมคงไม่อาจสร้าง “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” ขึ้นมาเอง เพราะมันต้องใช้เวลาพอสมควร ผมคิดว่า การนำ “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” ที่ปรากฏในงานวิจัยต่างๆ มาประยุกต์ใช้ก็น่าจะเป็นไปได้ เพียงแต่ผมต้องศึกษาให้ละเอียดและลึกซึ้งก่อน แต่งานที่เพิ่มขึ้นมาก็คือการสร้างคำถามที่สามารถวัดและวิเคราะห์แนวคิดของนักเรียนได้ตาม “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” ที่ผมจะเอามาใช้นั่นเอง

ผมเชื่อว่า ผมคงได้เรียนรู้อะไรอีกเยอะเลยครับจากการทำโครงการนี้