การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในประเทศต่างๆ (บทเรียนจาก TIMSS 1999)

ผมบังเอิญเจอบทความเรื่อง “What Science Teaching Looks Like: An International Perspective” ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสาร “Educational Leadership” ผมเห็นว่ามันน่าสนใจดี ผมก็เลยอ่านจนจบ และอยากนำมาแลกเปลี่ยนกัน ณ ที่นี้ครับ

บทความนี้เป็นการนำเสนอผลการวิเคราะห์การจัดการเรียนการสอนของครูวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจาก 5 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย (1) สาธารณรัฐเช็ก (2) ญี่ปุ่น (3) ออสเตรเลีย (4) เนเธอร์แลนด์ และ (5) สหรัฐอเมริกา โดย 4 ประเทศแรกประสบความสำเร็จในการประเมินระดับนานาชาติ TIMSS มากกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้วิจัย (ซึ่งน่าจะมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา) จึงอยากรู้ว่า การจัดการเรียนการสอนของวิทยาาสตร์ของประเทศเหล่านี้เป็นอย่างไร และแตกต่างจากของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างไร

ความแตกต่างที่ผู้วิจัยสังเกตได้คือว่า ครูในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณรัฐเช็ก ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ เน้นการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งพัฒนาแนวคิดของนักเรียนเป็นสำคัญ แม้ว่าครูในประเทศเหล่านี้อาจมีวิธีการที่แตกต่างกันไปตามบริบทและวัฒนธรรม เช่น:

  • ครูในประเทศสาธารณเช็กเน้นการถามตอบ/การอภิปรายกลุ่ม เพื่อตรวจสอบและปรับเปลี่ยนความเข้าใจของนักเรียน
  • ครูในประเทศญี่ปุ่นเน้นให้นักเรียนทำกิจกรรมแบบสืบเสาะต่างๆ เพื่อนำหลักฐานมาใช้พัฒนาความเข้าใจของนักเรียนให้ลึกซึ้งมากขึ้นๆ ตามลำดับ
  • ครูในประเทศออสเตรเลียเน้นการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้นักเรียนเกิดการเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดทางทฤษฎีกับหลักฐานต่างๆ และการเชื่อมโยงระหว่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับเหตุการณ์ชีวิตประจำวัน
  • ครูในประเทศเนเธอร์แลนด์เน้นให้นักเรียนทำงานเดี่ยว ทั้งการอ่านและการทำแบบฝึกหัด ร่วมกับการอภิปรายเล็กน้อยเกี่ยวกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์

แต่ลักษณะร่วมของครูในประเทศเหล่านี้คือจุดเน้นที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากการจัดการเรียนการสอนในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งครูเน้นการทำกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย น่าตื่นตาตื่นใจ และสนุกสนาน แต่กลับไม่ค่อยเชื่อมโยงกิจกรรมเหล่านั้นกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ผู้วิจัยเขียนไว้แบบนี้ครับ

“High-interest activities designed to be fun and engaging to students (such as games, puzzles, humor, dramatic demonstrations, and outdoor excursions) were prominent in U.S. lessons … [H]owever, U.S. teachers did not typically use these various activities to support the development of content ideas in ways that were coherent and challenging for students. When they did present science content, they more commonly organized it as a collection of discrete facts, definitions, and algorithms rather than as a connected set of ideas.” … “Sometimes, the U.S. lessons contained no explicit science content at all … During the entire lesson, there was no mention of a single science content idea related to the (activity).”

“กิจกรรมต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาให้มีความน่าสนใจมาก สนุกสนาน และให้นักเรียนมีส่วนร่วม (อาทิ เกมส์ ปริศนา มุขตลก การสาธิตที่น่าตื่นตาตื่นใจ และการศึกษานอกห้องเรียน) เป็นเรื่องปกติทั่วไปในบทเรียนของประเทศสหรัฐอเมริกา … อย่างไรก็ตาม ครูในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ใช้กิจกรรมที่หลากหลายเหล่านี้ในการส่งเสริมการพัฒนาความคิดด้านเนื้อหาในรูปแบบที่สอดคล้องและท้าทายสำหรับนักเรียน เมื่อพวกเขานำเสนอเนื้อหาวิทยาศาสตร์ พวกเขานำเสนอเป็นนิยาม ข้อเท็จจริง และลำดับที่แยกส่วนกัน แทนที่จะเป็นชุดความคิดที่เชื่อมโยงกัน” … “บางครั้ง บทเรียนของสหรัฐอเมริกาไม่มีเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏอย่างชัดแจ้งอยู่เลย … ในระหว่างบทเรียนทั้งเรื่อง ไม่มีการกล่าวถึงแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนั้นเลย” ตัวอย่างเช่น ครูในประเทศสหรัฐอเมริกาท่านหนึ่งให้นักเรียนทำกิจกรรม “สร้างจรวด” แต่ไม่ได้เชื่อมโยงกิจกรรมนั้นกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ใดๆ เลย

ผู้วิจัยนำเสนอผลการวิเคราะห์นี้ในรูปแบบแผนภูมิแท่ง ดังนี้ครับ

ที่มา: http://www.ascd.org

เราจะเห็นได้ว่า เมื่อเทียบเป็นอัตราส่วน ครูในประเทศญี่ปุ่นเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงแนวคิดทางวิทยาศาสตร์มากที่สุด (70%) และให้เวลากับกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์น้อยมาก (6%) ในขณะที่ครูในประเทศสหรัฐอเมริกาเน้นให้นักเรียนทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ในอัตราส่วนที่สูงมาก (27%) เมื่อเทียบกับครูในอีก 4 ประเทศ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ครูในประเทศสหรัฐอเมริกาให้นักเรียนทำกิจกรรมที่หลากหลาย แต่ไม่ได้พานักเรียนไปสู่การเรียนรู้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่แฝงอยู่ในกิจกรรมเหล่านั้นเลย ในการนี้ ผู้วิจัยอภิปรายและเสนอแนะว่า

“U.S. teachers have gotten the message that hands-on science activities are important. The next step is to help teachers learn how to select, sequence, and link those activities to content ideas so that students understand important science concepts …”

“ครูในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับการสื่อสารมานานแล้วว่า กิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่ให้นักเรียนลงมือปฏิบัตินั้นสำคัญ แต่ขั้นตอนต่อไปก็คือการช่วยให้ครูเหล่านี้เรียนรู้ว่า พวกเขาจะเลือก เรียงลำดับ และเชื่อมโยงกิจกรรมเหล่านั้นกับเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์อย่างไร เพื่อให้นักเรียนเข้าใจแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญๆ” ผู้วิจัยจึงเสนอว่า กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ควรมี “โครงเรื่อง” (storyline) ที่เป็นแก่นว่า นักเรียนจะได้เรียนรู้แนวคิดหลักอะไร และกว่าที่นักเรียนจะเข้าใจแนวคิดหลักนั้น นักเรียนต้องทำกิจกรรมอะไรบ้างไปตามลำดับ เพื่อค่อยๆ พัฒนาความเข้าใจของนักเรียนอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกัน

ผมจะลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นนะครับ กิจกรรมการเรียนรู้ควรเป็นคล้ายๆ “ภาพยนตร์” ที่มีโครงเรื่อง แต่ละตอนมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน และค่อยๆ พาผู้ชม (นักเรียน) ให้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ลึกซึ้งขึ้นทีละน้อยๆ จนกระทั่งถึงจุดไคลแมกซ์ที่ผู้ชมเข้าใจสาระสำคัญของเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจาก “ละครซิทคอมฯ” ที่แต่ละตอนแยกขาดจากกันได้ และไม่จำเป็นต้องเกี่ยวเนื่องกัน จุดเน้นก็ไม่ใช่เพื่อความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ อย่างลึกซึ้ง แต่เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น

ผมอ่านจบแล้วก็อดคิดถึงการจัดการเรียนการสอนในประเทศไทยไม่ได้ ซึ่งก็คงไม่ต่างไปจากกิจกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่าไหร่ เราอาจเน้นให้นักเรียนทำกิจกรรมนี่นั่นโน่น เพื่อให้นักเรียนสนุก ตื่นเต้น ชอบ และประทับใจ แต่หากกิจกรรมนั้นไม่ได้เชื่องโยงไปสู่แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมเหล่านั้นก็คงไร้ความหมาย เพราะเป้าหมายหลักของการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์คือการส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนาน มันก็จริงอยู่ที่ความสนุกสนานอาจช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้เพลิดเพลินขึ้น แต่ความสนุกสนานอย่างเดียวไม่พอ การประเมินคุณค่าของกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน เราไม่สามารถเอาความสนุกสนานและการมีส่วนร่วมของนักเรียนมาเป็นตัวตัดสินได้ว่า กิจกรรมไหนดีหรือไม่ หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่า กิจกรรมนั้นส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ได้ง่ายและลึกซึ้งเพียงใด

เราได้รับอิทธิพลทางความคิดต่างๆ (รวมทั้งความคิดด้านการศึกษา) มาจากสหรัฐอเมริกามาเยอะนะครับ แต่มันไม่ได้หมายความว่า ความคิดเหล่านี้คือสิ่งที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย ผลการประมินระดับนานาชาติ (ทั้ง PISA และ TIMSS) แสดงให้เราเห็นว่า หลายประเทศทำได้ดีกว่าสหรัฐอเมริกา เพียงแค่แประเทศเหล่านั้นเสียงอาจไม่ดังเท่ากับเสียงของสหรัฐอเมริกา

หมายเหตุ: เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังเผ็ดร้อนอยู่ ณ ขณะนี้