การสร้าง Learning Progression

ผมได้กล่าวถึง “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” (Learning Progression) ไปหลายครั้งแล้วนะครับ โดยนิยามแบบกว้างๆ แล้ว มันหมายถึงเส้นทางจำลองที่แสดงถึงพัฒนาการในการเรียนรู้เรื่องใดๆ ของนักเรียนส่วนใหญ่ เส้นทางจำลองนี้สามารถเป็นแนวทางสำหรับครู ทั้งในการจัดการเรียนการสอน และในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน อาจารย์ท่านใดที่ยังไม่คุ้นเคยกับ “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” สามารถอ่านเนื้อหาเก่าๆ ดังนี้ได้ครับ

เราเห็นผลลัพธ์กันแล้ว เราลองมาดูแนวทางการสร้าง “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” กันบ้างนะครับ

ในบทความเรื่อง “Learning Progressions and Teaching Sequences: A Review and Analysis” ผู้เขียนได้ให้แนวทางไว้ว่า ในการสร้าง “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” เรื่องใดๆ นั้น เราอาจกำหนดปลายทั้งสองด้านของ “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้” ขึ้นมาก่อนครับ โดยปลายด้านหนึ่งเป็นด้านล่าง (Lower anchor) ที่แสดงถึงความเข้าใจเดิมของนักเรียนที่ถูกต้องน้อยที่สุด ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งเป็นด้านบน (Upper anchor) ที่แสดงถึงความเข้าใจที่ถูกต้องที่สุด ซึ่งก็คือ แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ นั่นเอง

ในการกำหนดรายละเอียดของปลายด้านล่างนั้น เราอาจศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับความเข้าใจเดิมของนักเรียนในเรื่องนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อพิจารณาว่า ความเข้าใจเดิมแบบใดที่มีศักยภาพในการพัฒนาไปเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น ในเรื่องของการจม-ลอยของวัตถุ เราอาจกำหนดปลายด้านล่างว่า “นักเรียนเข้าใจว่า มวลหรือปริมาตรของวัตถุมีผลต่อการจม-ลอยของวัตถุในของเหลว” ซึ่งเราจะเ็ห็นว่า ความเข้าใจนี้มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ความเข้าใจเรื่องความหนาแน่นของวัตถุได้

ในการกำหนดรายละเอียดของปลายด้านบนนั้น เราอาจพิจารณาแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ และเนื้อหาในหลักสูตรฯ ที่กำหนดไว้ว่า นักเรียนกลุ่มเป้าหมายควรมีความเข้าใจเรื่องนั้นแบบใด จากนั้น เราจึงกำหนดความเข้าใจแบบนั้นให้เป็นปลายด้านบน ตัวอย่างเช่น ในเรื่องของการจม-ลอยของวัตถุ เราทราบว่า การจม-ลอยของวัตถุจะขึ้นอยู่กับความหนาแน่นสัมพัทธ์ระหว่างวัตถุและของเหลว ดังนั้น เราอาจกำหนดปลายด้านบนไว้ว่า “นักเรียนเข้าใจว่า ความหนาแน่นสัมพัทธ์ระหว่างวัตถุและของเหลวเป็นสิ่งที่กำหนดว่า วัตถุนั้นจะจมหรือลอยในของเหลวนั้น”

เมื่อได้ปลายทั้งสองด้านของ “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้แล้ว” เราก็เริ่มพิจารณาว่า ความเข้าใจใดที่ควรอยู่ระหว่างและสามารถเชื่อมโยงปลายทั้งสองด้านได้ ในการนี้ เราอาจศึกษาจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ และ/หรือ เราอาจทำการวิจัยในเรื่องนั้นด้วยตนเองกับนักเรียนจำนวนหนึ่ง (ยิ่งมากยิ่งดี) เพื่อนำความเข้าใจของนักเรียนแต่ละแบบมาเปรียบเทียบกันว่า ความเข้าใจแบบใดใกล้เคียงกับปลายด้านบน และความเข้าใจแบบใดใกล้เคียงกับปลายด้านล่าง จากนั้น เราจึงกำหนด “ลำดับขั้น” ระหว่างปลายทั้งสองด้าน ซึ่งอาจมีได้มากกว่าหนึ่งขั้นก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของเรื่องนั้นๆ

จากตัวอย่างเดิมเรื่องของการจม-ลอยของวัตถุ เราอาจกำหนดขั้นที่สูงกว่าปลายด้านล่างว่า “นักเรียนเข้าใจว่า ทั้งมวลและปริมาตรมีผลต่อการจม-ลอยของวัตถุในของเหลว” และในขั้นที่สูงขึ้นมาอีก เราอาจกำหนดว่า “นักเรียนเข้าใจว่า ความหนาแน่นของวัตถุ (อัตราส่วนระหว่างมวลและปริมาตรของวัตถุ) มีผลต่อการจม-ลอยของวัตถุ” ซึ่งทั้ง 2 ขั้นนี้เป็นความเข้าใจที่อยู่ระหว่างปลายด้านล่างและปลายด้านบนของ “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้ เรื่องการจม-ลอยของวัตถุในของเหลว”

เมื่อถึงตรงนี้ เราจะได้ว่า “ความก้าวหน้าในการเรียนรู้เรื่องการจม-ลอยของวัตถุ” ประกอบด้วย 4 ขั้น  นั่นคือ (อาจารย์อ่านจากด้านล่างขึ้นด้านบนนะครับ)

  1. นักเรียนเข้าใจว่า การจม-ลอยของวัตถุในของเหลวขึ้นอยู่กับความหนาแน่นสัมพัทธ์ระหว่างวัตถุและของเหลว
  2. นักเรียนเข้าใจว่า การจม-ลอยของวัตถุในของเหลวขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของวัตถุ
  3. นักเรียนเข้าใจว่า การจม-ลอยของวัตถุในของเหลวขึ้นอยู่กับมวลและปริมาตรของวัตถุ
  4. นักเรียนเข้าใจว่า การจม-ลอยของวัตถุในของเหลวขึ้นอยู่กับมวลหรือปริมาตรของวัตถุ

เราก็พอจะเห็นว่า พัฒนาการ(หรือความก้าวหน้า)ในการเรียนรู้ของนักเรียนเรื่องการจม-ลอยของวัตถุในของเหลว “น่าจะ” เป็นอย่างไร ตรงนี้จะเป็นแนวทางสำหรับครูในการวิเคราะห์ผู้เรียนของตนเองว่า ผู้เรียนแต่ละคนอยู่ ณ ขั้นใด และกิจกรรมการเรียนรู้แบบใดที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนแต่ละคน “ก้าวขึ้น” ไปยังขั้นที่สูงขึ้นต่อไปได้ครับ

Comments

comments