STEM, MINT, or Another

ในช่วงเวลานี้ หลายๆ หน่วยงานกำลังสนใจการจัดการศึกษา STEM กันมากนะครับ คำว่า STEM ในที่นี้เป็นตัวย่อของ 4 สาขาวิชาหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology)  วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และ คณิตศาสตร์ (Mathematics) การจัดการศึกษา STEM นี้เป็นการบูรณาการทั้ง 4 สาขาวิชาเหล่านี้ไปด้วยกัน ฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดนี้ (ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย) เชื่อว่า การจัดการศึกษา STEM จะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีทั้งความรู้ ทักษะ และความสามารถในการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง (ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ) ก็เกิดคำถามว่า การจัดการศึกษา STEM คือ “คำตอบที่ใช่” ของประเทศไทยหรือไม่ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด แนวคิดนี้น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในสาขาวิชาทั้ง 4 เหล่านี้ครับ

จากการไปดูงาน ณ ประเทศเยอรมัน ผมพบว่า ประเทศเยอรมันเองก็มีแนวคิดที่คล้ายๆ กับการจัดการศึกษา STEM เช่นกันครับ แต่แนวคิดนี้มีชื่อว่า MINT ไม่ใช่ STEM ครับ คำว่า MINT ในที่นี้เป็นตัวย่อของ 4 สาขาวิชาหลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ (Mathematics) วิทยาศาสตร์สารสนเทศ (Information Science) วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) และ เทคโนโลยี (Technology) หากเปรียบเทียบชื่อย่อกันจริงๆ แล้ว MINT กับ STEM ก็คงต่างกันเพียงแ่ค่ว่า MINT เน้นวิทยาศาสตร์สารสนเทศ ส่วน STEM เน้นวิศวกรรมศาสตร์ [Science ของ STEM ก็คงเป็นอันเดียวกับ Natural Science ของ MINT ครับ] ใครสนใจศึกษาเกี่ยวกับ MINT สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ครับ (ซึ่งมีเนื้อหาเป็นภาษาเยอรมัน)

ประเด็นเล็กๆ ที่ผมสนใจคือว่า เหตุใด 2 ประเทศ ซึ่งมีแนวคิดคล้ายๆ กัน จึงมีการดำเนินการที่แตกต่างกัน (เล็กน้อย) คำตอบที่ผมพอจะเดาได้ ณ ตอนนี้ก็คือว่า ความต้องการทรัพยากรบุคคลในแต่ละสาขาวิชาของแต่ละประเทศอาจแตกต่างกัน ทำให้จุดเน้นของการพัฒนากำลังคนของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังสนใจ STEM กันมาก ผมก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่า เราเข้าใจถึงความต้องการบุคลากรในแต่ละสาขาภายในประเทศของเราแล้วยัง เราทราบแล้วยังว่า ประเทศของเราต้องการกำลังคนด้านใดเป็นพิเศษและอย่างเร่งด่วน ในการตอบคำถามนี้ เราก็ต้องเข้าใจทิศทางการพัฒนาของประเทศในภาพรวมด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนากำลังคนของประเทศสอดรับกับทิศทางการพัฒนานั้น การจัดการศึกษาตามกระแสโลก โดยปราศจากความเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง อาจไม่ก่อให้เกิดผลดีได้เหมือนกันครับ

มีความเป็นไปได้เหมือนกันนะครับว่า หลายฝ่ายอาจทำกำลังดำเนินการในส่วนนี้อยู่ เพียงแค่ผมอาจยังไม่รู้เห็นเท่านั้นเอง

Comments

comments

2 thoughts on “STEM, MINT, or Another”

  1. สวัสดีครับ อ.ลือชา
    stem ผมกำลังสนใจอยู่เหมือนกันครับ แต่จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า มีแต่คนกล่าวถึงในทางทฤษฎีครับ ทางปฏิบัติยังหาไม่เจอเลยครับ ถ้าอาจารย์มีแหล่งข้อมูลแนะนำ ช่วยชี้แนะด้วยครับ
    ด้วยความเคารพ
    พิทธพนธ์

    1. ใช่ครับ มันยังไม่ค่อยเป็นรูปธรรมเท่าไหร่ แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศเยอรมันนั้น ผมเองไม่ค่อยแน่ใจ เพราะข้อมูลที่ได้มาผิวเผินมาก เท่าที่ผมรู้ในประเทศไทยนั้น สวทน. ร่วมกับมหาวิทยาลัยบางแห่ง กำลังพัฒนาหน่วยการเรียนรู้อยู่กับ ผมเคยเห็นเขามานำเสนอที่กระทรวงฯ แต่มันก็ยังไม่ชัดเจนว่า การนำไปใช้จริงเป็นอย่างไรบ้าง ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นครับ

Comments are closed.