วิธีวิจัยแบบเดลฟาย (Delphi method)

ตามที่ผมได้นำเสนอเรื่อง “การปฏิบัติการสอนวิทยาศาสตร์แกนกลาง” ผมได้ทิ้งประเด็นหนึ่งค้างไว้ ซึ่งก็คือเรื่อง “วิธีวิจัยแบบเดลฟาย” มันเป็นวิธีการที่ผู้วิจัยเรื่อง “Identifying a Core Set of Science Teaching Practices: A Delphi Expert Panel Approach” ได้ใช้เพื่อสกัดลักษณะสำคัญของการปฏิบัติการสอนวิทยาศาสตร์ตามหลักสูตรวิทยาศาสตร์ใหม่ของประเทศสหรัฐอเมริกา ผมขอลงรายละเอียด ดังนี้ครับ

นิยามใน Wikipedia ของคำว่า “Delphi method” มีดังนี้ครับ

The Delphi method … is a structured communication technique, originally developed as a systematic, interactive forecasting method which relies on a panel of experts. The experts answer questionnaires in two or more rounds. After each round, a facilitator provides an anonymous summary of the experts’ forecasts from the previous round as well as the reasons they provided for their judgments. Thus, experts are encouraged to revise their earlier answers in light of the replies of other members of their panel. It is believed that during this process the range of the answers will decrease and the group will converge towards the “correct” answer. Finally, the process is stopped after a pre-defined stop criterion (e.g. number of rounds, achievement of consensus, stability of results) and the mean or median scores of the final rounds determine the results.

ผมพอสรุปได้ว่า มันเป็นวิธีการสื่อสารอย่างมีโครงสร้าง เพื่อใช้ในการพยากรณ์เหตุการณ์อะไรบางอย่าง โดยกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง (ผู้เชี่ยวชาญ) ผ่านผู้สื่อกลางโดยที่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นไม่เปิดเผยตัวตน การสื่อสารอย่างมีโครงสร้างนี้จะมีเป็นรอบๆ ตามจำนวนที่ได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจจะประมาณ 2 – 3 รอบ หรือมากกว่านั้น หรือจนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกันในระดับหนึ่ง

ในตอนแรก ผู้สื่อกลางอาจเริ่มต้นโดยการให้ผู้เชี่ยวชาญตอบแบบสอบถามที่เกี่ยวกับหัวข้อของการวิจัย (ซึ่งในตัวอย่างที่ผมยกมาก่อนหน้านี้ก็คือลักษณะสำคัญของการปฏิบัติการสอนวิทยาศาสตร์) ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนั้น (ซึ่งในช่วงนี้ ผู้สื่อกลางมักเปิดกว้างเพื่อรับความคิดเห็นที่หลากหลายจากผู้เชี่ยวชาญ) จากนั้น ผู้สื่อกลางจะทำการสรุปความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญแต่ละคน แล้วนำเสนอกลับไปยังผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนอีกครั้ง ในการนี้ ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนจะได้ทราบความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ และเทียบเคียงกับความคิดเห็นของตนเอง

ในรอบต่อมาๆ (ซึ่งมักมีหลายรอบ) ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนก็ต้องแสดงความคิดเห็นอีกครั้งบนพื้นฐานของการสรุปของผู้สื่อกลาง ผู้เชี่ยวชาญอาจจะเพิ่มเติม ขยายความ ปรับเปลี่ยน หรือละทิ้งสิ่งที่ตัวเองเคยแสดงความคิดเห็นไปก่อนหน้านี้ ในการนี้ ผู้สื่อกลางต้องทำการสรุปและ “จูน” ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนให้สอดคล้องกัน (ซึ่งอาจยังไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันทั้งหมด) โดยผู้สื่อกลางอาจเขี่ยนสรุปออกมาเป็นข้อๆ

เมื่อผู้สื่อกลางได้ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่สอดคล้องกันระดับหนึ่งแล้ว ผู้สื่อกลางจะให้ผู้เชี่ยวชาญการทำให้คะแนนว่า ตนเองเห็นด้วยกับความคิดเห็นแต่ละข้อในระดับใด ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบมาตราส่วนประเมินค่า (Likert scale) จากนั้น ผู้สื่อกลางก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ เช่น การหาค่าเฉลี่ย การหาค่ามัธยฐาน ค่าฐานนิยม หรือการจัดอับดับคะแนน เป็นต้น ซึ่งผู้สื่อกลางต้องการมีการกำหนดเกณฑ์ว่า ความคิดเห็นหัวใดควรได้รับการยอมรับที่ระดับคะแนนเท่าไร

เราจะเห็นว่า วิธีการวิจัยแบบเดลฟายนี้เป็นการสื่อสารที่มีโครงสร้างค่อนข้างแน่นอน เพราะมันมีการกำหนดไว้ล่วงหน้าว่า ประเด็นของการสื่อสารคืออะไร โดยใคร และเพื่อวัตถุประสงค์อะไร โดยที่ผู้สื่อสาร (หรือผู้เชี่ยวชาญ) ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ทั้งนี้เพื่อลดความอคติส่วนตัวของผู้สื่อสาร การสื่อสารทั้งหมดจะผ่านผู้สื่อกลาง ผมคงพอกล่าวไว้ว่า การวิจัยแบบนี้มีผู้เชี่ยวชาญรับบทบาทเป็นพลวิจัยหรือผู้ให้ข้อมูล ในขณะที่ผู้สื่อกลางรับบทบาทเป็นผู้วิจัย

ผมขอย้อนกลับมายังบทความวิจัยเรื่อง “Identifying a Core Science Teaching Practices: A Delphi Expert Panel Approach” อีกรอบนะครับ ซึ่งผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยแบบเดลฟายเพื่อหาว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์มีความเห็นว่า ลักษณะสำคัญของการปฏิบัติการสอนวิทยาศาสตร์ตามหลักสูตรวิทยาศาสตร์ใหม่ของประเทศสหรัฐอเมริกาควรมีอะไรบ้าง ซึ่งผลการวิจัยเป็นดังที่ผมได้เคยนำเสนอไปแล้ว

อาจารย์สังเกตดีๆ นะครับ ลักษณะที่ 1 (ครูต้องสามารถทำให้นักเรียนมีส่วนร่วม ทั้งทางกายและทางใจ ในการสำรวจตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์) ตรงกับโครงการส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ (ปีงบประมาณ 2557) ในขณะที่ลักษณะที่ 3 (ครูต้องสามารถศึกษาและประเมินความคิดของนักเรียน และนำความคิดของนักเรียนไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอน) ตรงกับโครงการส่งเสริมกาววิจัยเชิงคุณภาพเพื่อศึกษาความเข้าใจเดิมของนักเรียน (ปีงบประมาณ 2555 – 2556)

ซึ่งมันทำให้ผมคิดและมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า โครงการต่างๆ ที่ผมกำลังทำได้เดินมาถูกทางแล้ว

Comments

comments