ถ้าว่ายน้ำไม่ได้ ก็ต้องจมน้ำตาย

อาจารย์ยังจำประสบการณ์ตอนที่อาจารย์เป็นครูครั้งแรกได้ไหมครับ มันอาจเป็นช่วงที่อาจารย์เป็นนิสิตฝึกสอนหรืออาจเป็นช่วงที่อาจารย์ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูจริงๆ แล้ว สำหรับผมแล้ว มันเป็นประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยความกังวลหลายอย่าง ผมกังวลว่า เด็กจะไม่ยอมรับ ไม่ฟัง ไม่เคารพ ไม่ทำตาม และไม่อีกสารพัดอย่าง ผมเชื่อว่า อาจารย์หลายคนคงเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มา อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ตัวเองโชคดีหลายอย่าง ผมได้อาจารย์พี่เลี้ยงที่ดีครับ เพราะท่านคอยดูแลผมอย่างใกล้ชิด และผมก็ได้สอนเด็กๆ ที่น่ารักครับ พวกเขา/เธอเปิดโอกาสและยอมรับผมในฐานะครูคนหนึ่ง แต่หลายคนอาจไม่ได้โชคดีอย่างผม

ตามที่กล่าวมานี้ ผมต้องการสื่อถึงการนำทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Situated Learning มาใช้ในการผลิตครูครับ กล่าวคือ การฝึกสอนหรือการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของคนที่จะไปเป็นครูนั้นควรเป็นไปตาม “Legitimate Peripheral Participation” หรือ “การมีส่วนร่วมจากรอบนอกอย่างชอบธรรม” กล่าวคือ นิสิตควรเริ่มต้นจากการสังเกตการเรียนการสอนของครูพี่เลี้ยงก่อน เพื่อให้นิสิตได้รู้จักและคุ้นเคยกับเด็กๆ และสภาพแวดล้อมในห้องเรียน จากนั้น นิสิตจะค่อยๆ ได้รับโอกาสในการ “ช่วยงาน” ครูพี่เลี้ยงจากงานง่ายไปยังงานที่ยากมากขึ้น เช่น การตรวจการบ้าน การให้คำแนะนำนอกเวลาเรียน การร่วมอภิปรายกับนักเรียน การเป็นผู้ช่วยสอน  และอื่นๆ เมื่อนิสิตมีความพร้อมระดับหนึ่งแล้ว ครูพี่เลี้ยงค่อยเปิดโอกาสให้นิสิตได้ลองสอนจริงๆ (รวมทั้งการเขียนแผนการสอนด้วยครับ) ซึ่งอาจเต็มหรือไม่เต็มคาบ ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความพร้อมของนิสิตแต่ละคน แต่การสอนนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของครูพี่เลี้ยง จนกระทั่งครูพี่เลี้ยงสามารถปล่อยให้นิสิตสอนได้ตามลำพัง และนั่นก็หมายความว่า นิสิตสามารถเป็นครูได้ด้วยตัวเอง ที่ผมว่ามานี้คือสิ่งที่อยู่ในอุดมคติตามทฤษฎีครับ

อย่างไรก็ตาม เรื่องจริงส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น นิสิตหลายคนต้องสอนตั้งแต่วันแรกที่ไปถึงโรงเรียนเลย ซึ่งแน่นอนว่า นิสิตไม่พร้อมหรอกครับ ไม่ว่าพวกเขา/เธอจะผ่านการเรียนรู้ทฤษฎีในมหาวิทยาลัยมาดีแค่ไหนก็ตาม นิสิตต้องเอาตัวรอดในห้องเรียนให้ได้ครับ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ช่วงแรกๆ ก็อาจไม่หนักเท่าไหร่ เพราะเด็กๆ ยังเกรงใจอยู่ แต่พอนานเข้า เด็กๆ เริ่มไม่เกรงใจและไม่เคารพ ทำให้นิสิตบางคนอาจดุเด็กๆ อย่างรุนแรง บางคนที่ใจดีหน่อยอาจซื้อขนมมาเอาอกเอาใจ บางคนก็อาจปล่อยให้เด็กๆ ทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ เหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นในต่างประเทศครับ นักการศึกษาหลายคนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “Sink-or-Swin Experience” [ตัวอย่างเช่นในบทความวิจัยเรื่อง “The Beginning Science Teacher: Classroom Narratives of Convictions and Constraints“] มันเป็นการอุปมาครับ การให้นิสิตสอนทันทีโดยที่พวกเขา/เธอยังไม่พร้อมก็ไม่ต่างอะไรกับการโยนเด็กคนหนึ่ง (ซึ่งยังว่ายน้ำไม่เป็น) ลงไปในสระน้ำลึกครับ เด็กคนนั้นต้องดิ้นรนสุดชีวิต เพื่อให้ตัวเองลอยในสระน้ำนั้นให้ได้ และในท้ายที่สุดแล้ว เด็กคนนั้นก็อาจว่ายน้ำเป็น แต่ถ้าเด็กคนนั้นว่ายน้ำไม่ได้ เขา/เธอก็ต้องจมน้ำตายไปเลย

อาจารย์ที่เป็นพี่เลี้ยงอย่าเพิ่งโยนนิสิตในความดูแลของตัวเองลงในสระน้ำลึกเลยครับ มันเป็นประสบการณ์ที่ทรมานน่าดูเลย

Comments

comments