ความลังเลในการอภิปรายกับนักเรียน

ก่อนหน้านี้ ผมเคยนำเสนอ “4 แนวทางของการอภิปรายกับนักเรียน” ไปแล้วนะครับ ซึ่งประกอบด้วย 2 มิติ คือ 1. Dialogic/Authoritative และ 2. Interactive/Non-interactive ในครั้งนี้ ผมขอพูดถึงมิติแรกเพิ่มเติมอีกหน่อยนะครับ

Dialogic Approach นั้นเป็นแนวทางการอภิปรายกับนักเรียน โดยเน้นการสนทนาเพื่อให้นักเรียนได้แสดงความเข้าใจเดิมของตนเองเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอน (เช่น เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร ข้างขึ้นข้างแรมเกิดขึ้นได้อย่างไร และ ต้นไม้เจริญเติบโตได้อย่างไร เป็นต้น) การอภิปรายแบบนี้เน้นให้เกิดการนำเสนอความเข้าใจเดิมที่หลากหลาย และใช้ความเข้าใจเดิมเหล่านี้เป็นฐานในการพัฒนาไปเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

Authoritative Approach เป็นอะไรที่ตรงข้ามกับ Dialogic Approach ครับ การอภิปรายแบบนี้เน้นเฉพาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งมักมีครูเป็นผู้นำเสนอ) ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนยอมรับและทำความเข้าใจความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้น ในการนี้ นักเรียนอาจจำเป็นต้องเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับความเข้าใจเดิมของตนเอง

ผมเคยย้ำไว้นะครับว่า “ไม่มีแนวทางไหนที่ดีกว่ากัน เพียงแต่ครูต้องรู้ว่า ตนเองควรใช้แนวทางการพูดแบบไหน ณ เวลาใด” แต่ละแบบมีประโยชน์ไม่เหมือนกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์และวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนการสอน ครูจึงต้องรู้ว่า ตนเองจะใช้แนวทางแบบไหน ณ ช่วงเวลาใด ซึ่งในบางครั้งก็เป็นเรื่องยาก เพราะครูอาจไม่แน่ใจและตัดสินใจไม่ได้ว่า ตนเองจะใช้การอภิปรายกับนักเรียนแบบไหนและเมื่อไหร่ดี

ผมเองก็เคยเจอครับ ในระหว่างการอภิปรายกับนักเรียน ผมทราบดีว่า ผมควรเริ่มต้นด้วย Dialogic Approach เพราะการอภิปรายแบบนี้จะช่วยให้ผมทราบว่า นักเรียนมีความเข้าใจเดิมอย่างไรบ้าง และความเข้าใจเดิมเหล่านั้นควรถูกพัฒนาให้เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างไร แต่ในระหว่างนี้ ผมมักลังเลว่า ผมควรนำเสนอความรู้ทางวิทยาศาสตร์เมื่อไหร่ดี (นั่นคึอ ผมควรใช้ Authoritative Approach เมื่อไหร่ดี) ที่จะช่วยให้นักเรียนยอมรับและเข้าใจความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้น โดยพวกเขาและเธอไม่เกิดความขัดแย้งในใจระหว่างความเข้าใจเดิมของตนเองและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การนำเสนอความรู้ทางวิทยาศาสตร์เร็วเกินไปอาจทำให้นักเรียนไม่เข้าใจและไม่ยอมรับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่หากช้าไป นักเรียนก็จะรู้สึกเบื่อและไม่อยากติดตามการจัดการเรียนการสอนอีกต่อไป ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ต้องถูกนำเสนอให้ถูกเวลาครับ

ปัญหานี้มีคนทำวิจัยไว้เช่นกันครับ ตัวอย่างเช่น

เขาเรียกความลังเลในที่นี้ว่า Tension ครับ หากผมอ่านละเอียดแล้ว ผมจะกลับนำมาเสนออีกครั้งนะครับ

Comments

comments

4 thoughts on “ความลังเลในการอภิปรายกับนักเรียน”

  1. จากประสบการณ์การสอนของผมนะครับ การอภิปรายกับนักเรียนแบบที่ 1 จะทำให้นักเรียนไม่รู้สึกเบื่อ เพราะ การนำเสนอมุมมองที่หลากหลายจะเป็นตัวจุดประกายให้นักเรียนเริ่มคิด แต่มุมมองที่ครูยกมาต้องน่าสนใจ เหมาะสมกับความรู้ของนักเรียนที่กำลังสอน ถ้ายากไปนักเรียนจะเบื่อไม่อยากคิด บรรยากาศในห้องเรียนจะเงียบมีเพียงนักเรียนเก่งเท่านั้นที่สน
    ใจ แต่ถ้าไม่ยากไม่ง่ายและน่าสนใจ บรรยากาศการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายจะเกิดขึ้น

    1. ผมเห็นด้วยครับ นักเรียนชอบการอภิปรายแบบ dialogic approach เพราะ focus อยู่ที่ความคิดของนักเรียนเอง แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ครูก็ต้องทำให้การอภิปรายนั้นลู่เข้าสู่แนวคิดทางวิทยาศาสตร์อยู่ดี เพราะนั่นคือเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอนครับ ในช่วงของการลู่เข้าสู่แนวคิดทางวิทยาศาสตร์นี่แหละครับ ครูต้องใช้ authoritative approach ซึ่ง focus จะมาอยู่ที่แนวคิดทางวิทยาศาสตร์

      ความท้าทายจึงอยู่ที่ว่า ครูจะทำให้การอภิรายที่เต็มไปด้วยความคิดที่หลากหลายลู่เข้าสู่แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร และช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสม งานวิจัยข้างต้นเรียกภาวะนี้ว่า Tension ครับ

      การอภิปรายหากเริ่มต้นด้วย authoritative approach ตั้งแต่แรกแล้ว นักเรียนก็จะไม่เข้าใจแนวคิดทาวิทยาศาสตร์ เพราะมันขาดการเชื่อมโยงกับความเข้าใจเดิมของนักเรียนครับ

      ขอบคุณน้องพิทธพนธ์สำหรับความคิดเห็นครับ

  2. เป็นปัญหาที่พบอยู่เป็นประจำเลยค่ะ การให้นักเรียนเสนอแนวคิดของตนเองทำได้ดีเฉพาะเด็กเก่ง เด็กอ่อนที่ตัวเองสอนอยู่ทำได้เพียงให้เขาแสดงความรู้เดิมออกมา การที่เขาจะสร้างแนวคิดใหม่หรือแนวคิดวิทยาศาสตร์ออกมาได้ต้องใช้เวลา แต่การเรียนการสอนทุกวันนี้เต็มไปด้วยการทดสอบ เราถูกกำหนดให้สอนเพื่อทำการสอบระดับชาติ ระดับนานาชาติ ดิฉันถูกหัวหน้ากลุ่มสาระนิเทศการสอนโดยบอกว่าอย่าเน้นกระบวนการมาก ให้รีบจบเนื้อหาเดี๋ยวจะไม่ทันสอบ O-Net

Comments are closed.